ผลสำรวจชี้ 'ปัญหาการคอรัปชั่น' ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาของหลายประเทศในเอเชีย

FILE - In this Feb. 20, 2017 photo, Donald Tsang, former leader of Hong Kong, is escorted in a prison bus leaving the high court after sentencing and mitigation after his conviction for misconduct in public office, in Hong Kong.

Your browser doesn’t support HTML5

Asia Corruption Survey

รายงานสำรวจด้านปัญหาการคอรัปชั่นในเอเชีย ระบุว่า การฉ้อราษฎร์บังหลวงยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาของหลายประเทศในเอเชีย แม้ว่าโครงการต่อต้านการคอรัปชั่นในบางประเทศ เช่น ประเทศจีน จะสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดความตื่นตัวในเรื่องนี้มากขึ้นก็ตาม

รายงานสำรวจที่จัดทำโดยองค์กร Transparency International และศูนย์ Political and Economic Risk (PERC) ในฮ่องกง ซึ่งเปิดเผยออกมาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ชี้ว่า “การรับรู้และความตื่นตัวในปัญหาคอรัปชั่นเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในหมู่ชาวเอเชีย ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา”

ถึงกระนั้นรายงานชิ้นนี้ระบุว่า ปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวงยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศในเอเชีย

ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น คือประเทศที่ประสบปัญหาคอรัปชั่นในระดับต่ำ ขณะที่ กัมพูชา อินโดนีเซีย และเวียดนาม มีปัญหาคอรัปชั่นที่น่าเป็นห่วง

asia-corruption-

ในส่วนของจีน รายงานชี้ว่าดูเหมือนปัญหาการคอรัปชั่นเริ่มลดลงหลังจากประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ใช้นโยบายปราบปรามคอรัปชั่นในทุกระดับ แต่ PERC ก็ระบุว่ายังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก เนื่องจากการคอรัปชั่นได้ครอบคลุมไปทั่วทั้งสังคมจีน

ขณะที่ Transparency International บอกว่า ชาวจีนเกือบ 3 ใน 4 เชื่อว่าระดับการฉ้อราษฎร์บังหลวงได้เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งก็ได้พยายามใช้มาตรการหลายอย่างในการปราบปราม เช่น การเพิ่มบทลงโทษสำหรับคดีฉ้อราษฎร์บังหลวงและรับสินบน และปรับแก้กฎหมายเกี่ยวกับการต่อต้านการแข่งขันอย่างไม่ยุติธรรม เป็นต้น

สำหรับอินเดียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัญหาการคอรัปชั่นมากที่สุดจากการสำรวจครั้งนี้ รายงานชี้ว่าแม้ชาวอินเดียส่วนใหญ่ต่างเชื่อว่าไม่มีความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาคอรัปชั่นมากนัก แต่ก็ได้ยกย่องแนวทางใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาคอรัปชั่นของรัฐบาลนายกฯ นเรนธรา โมดี เช่น การยกเลิกใช้ธนบัตรมูลค่าสูงในอินเดีย

ทางด้านประเทศในเอเชียที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวรวดเร็ว เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และกัมพูชา รายงานบอกว่าประชาชนยังมีความตื่นตัวน้อยเกี่ยวกับปัญหาคอรัปชั่น

รศ. ดร. ภวิดา ปานะนนท์ แห่งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า

"บรรดานักลงทุนในประเทศเหล่านี้ต่างยอมรับการคอรัปชั่นในระดับหนึ่ง ว่าเป็นต้นทุนหรือความเสี่ยงในการลงทุนในประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตนี้"

อย่างไรก็ตาม รศ. ดร. ภวิดา ปานะนนท์ ให้ความเห็นว่า "ความมั่นใจของภาคธุรกิจนั้นจะลดลง หากไม่สามารถคาดเดาได้ว่าการฉ้อฉลหรือติดสินบนนั้นจะบานปลายไปถึงขั้นไหน"

ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย รายงานสำรวจของ Transparency International และศูนย์ Political and Economic Risk (PERC) ชี้ว่า คนไทยส่วนใหญ่มองโครงการต่อต้านคอรัปชั่นของรัฐบาลชุดปัจจุบันในแง่บวก โดย 72% ของกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าปัญหาการคอรัปชั่นได้ลดลงภายใต้รัฐบาลชุดนี้ ขณะที่ 14% มองว่ามีการคอรัปชั่นเพิ่มขึ้น

โดย PERC ระบุว่า งานวิจัยของมหาวิทยาลัยหอการค้าได้สรุปไว้ว่า มูลค่าเงินสินบนที่องค์กรต่างๆ ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศไทย ได้ลดลงอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี

ด้าน ดร.บัณฑิต นิจถาวร แห่งสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ IOD และอดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า

"ขณะนี้โครงการต่างๆ ในการต่อต้านการคอรัปชั่นมีความก้าวหน้าไปมาก ด้วยความร่วมมือของรัฐบาล ภาคธุรกิจและประชาชน"

ดร.บัณฑิต ระบุด้วยว่าปัญหาคอรัปชั่นในไทยเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกและทำกันอย่างเป็นระบบ จึงต้องอาศัยทุกฝ่ายในการช่วยกันแก้ไขจัดการ

เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว รัฐบาลไทยได้จัดตั้งศาลพิเศษขึ้นมาดูแลคดีคอรัปชั่นโดยเฉพาะ และได้ตัดสินคดีใหญ่ๆ ไปแล้วหลายคดี รวมถึงคดีของอดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จุฑามาศ ศิริวรรณ ที่ถูกตัดสินจำคุก 50 ปี และคดีผู้บริหารการบินไทยรับสินบนจากบริษัทผลิตเครื่องยนต์โรลล์สรอยซ์ของอังกฤษ ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในขณะนี้

(ผู้สื่อข่าว Ron Corben รายงานจากกรุงเทพฯ / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)