ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สภาวะอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอาจมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านโภชนาการทั่วโลก


คุณซอนญ่า เวอร์มิวเล็น เป็นหัวหน้าทีมวิจัยที่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศโลกให้แก่คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการวิจัยการเกษตรกรรมนานาชาติ เธอกล่าวว่าพืชหลักสำคัญๆ อาทิ ข้าวโพดกับข้าวสาลีจะให้ผลผลิตน้อยลงหากอากาศร้อนเกิน 30 องศาเซลเซียส

คุณเวอร์มิวเล็นกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าในหลายๆประเทศ อากาศเริ่มร้อนถึงสามสิบองศาเซลเซียสกันบ่อยมากขึ้นจนเป็นเรื่องปกติ อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นมีผลต่อการเกษตรกรรม นอกจากนี้ยังส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนเปลี่ยนแปลงไปด้วย เกิดภาวะฝนแล้งในบางพื้นที่แต่เกิดน้ำท่วมในจุดอื่นๆ

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวอีกว่าผลกระทบสุดท้ายจากภาวะโลกร้อนคือโรคระบาดและโรคแมลงที่คุกคามพืช ซึ่งในขณะนี้เรายังมีความรู้น้อยมากถึงผลกระทบนี้ คุณเวอร์มิวเล็นเห็นว่าโรคระบาดในพืชบางชนิดโดยเฉพาะพืชอาหารหลักสำคัญอย่างมันฝรั่งจะเปลี่ยนแปลงลักษณะของโรคไปและจะมีโรคพืชเพิ่มชนิดมากขึ้น

แม้แต่การปลูกข้าวที่เป็นอาหารหลักของคนในหลายส่วนของโลก ก็จะได้รับผลกระทบด้วย เพราะสภาวะอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้อากาศร้อนขึ้น เกิดภาวะน้ำทะเลสูงขึ้น เกิดภาวะดินเค็ม ตลอดจนเกิดภัยน้ำท่วมและภัยแล้งบ่อยมากขึ้น คุณเวอร์มิวเล็นกล่าวว่าพืชบางชนิดในหลายๆส่วนของโลกอาจจะไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาวะอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง นี้ได้

เธอบอกว่าเกษตรกรอาจต้องพิจารณาเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนอย่างสิ้นเชิง เธอบอกว่าภายในปลายศตรรรษนี้ พื้นที่ส่วนใหญ่ทั่วทวีปอาฟริกาจะไม่เหมาะเเก่การปลูกข้าวโพดอีกต่อไป พืชทางเลือกที่จะปลูกทดแทน คือ พืชตระกูลเมล็ดธัญพืชและมันสัมปหลัง

เมื่อมีการเปลี่ยนชนิดของพืชที่เพาะปลูก คนในท้องถิ่นต้องปรับลักษณะอาหารที่รับประทานตามไปด้วย กลายเป็นการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมการกิน นอกจากนี้ในภาวะที่อากาศร้อนทำให้อาหารเสียเร็ว อาจเกิดโรคติดต่อทางอาหารเพิ่มมากขึ้นและส่งผลกระทบต่อสุขภาพขงคนตามมา

แต่ภาวะโลกร้อนไม่ใช่ข่าวร้ายเสมอไป คุณเวอร์มิวเล้น ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าชาวนาจะปรับตัว จะมีพื้นที่เกษตรกรรมใหม่ๆเกิดขึ้นจากเดิมที่เคยเป็นพื้นที่ที่เคลปกคลุมด้วยน้ำแข็งและในภาพรวมทั้งหมด ปริมาณอาหารเลี้ยงโลกที่สามารถผลิตได้อาจจะไม่ได้รับกระทบอย่างที่กังวลกันก็ได้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดก็คือคนท้องถิ่นจะรับมือกันอย่างไรหากพืชเกษตรกรรมหลักในพื้นที่ไม่สามารถให้ผลผลิตได้อีกต่อไป

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าเราอาจจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยการนำเข้าอาหารที่ต้องการจากแหล่งอื่นหรืออาจจะส่งเสริมให้คนท้องถิ่นปรับเปลี่ยนชนิดของพืชที่ปลูก ประเภทของสัตว์ที่เลี้ยงและลักษณะอาหารที่รับประทาน และในช่วงอีกหนึ่งร้อยปีข้างหน้า คนเราทั่วโลกคงต้องปรับตัวทั้งสองทาง ไม่ว่าจะเป็นการค้าระหว่างชาติ และการปรับวิถีีการเกษตรกรรมให้เหมาะกับสภาวะอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
XS
SM
MD
LG