ลิ้งค์เชื่อมต่อ

อนามัยโลก แนะยุติการซื้อขายสัตว์ป่าที่มีชีวิต เพื่อป้องกันโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ในอนาคต


Banning Consumption of Wildlife in Asia Difficult, Despite COVID Pandemic
Banning Consumption of Wildlife in Asia Difficult, Despite COVID Pandemic

องค์การอนามัยโลก นำทีมหน่วยงานสากลที่เกี่ยวข้องอีก 2 แห่ง เรียกร้องนานาประเทศให้ยุติการซื้อขายสัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ยังมีชีวิตอยู่ตามตลาดต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ในอนาคต

องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health) และ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Program) เข้าร่วมกับองค์การอนามัยโลก เพื่อเตือนประชาคมโลกว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อาจเป็นแหล่งกำเนิดของโรคต่างๆ ถึงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ และคำแนะนำให้ยุติการซื้อขายสัตว์ป่าประเภทดังกล่าวยังมีจุดประสงค์ที่จะช่วยสร้างความปลอดภัยและความยั่งยืนให้กับระบบอาหารโลกด้วย

ฟาเดลา ชาอิบ โฆษกขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า คำแนะนำนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การระบาดของโควิด-19 คือ ประเด็นที่ทำให้ต้องหันกลับมาพิจารณาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และมีจุดประสงค์เพื่อ “ลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายของโควิด-19 และโรคติดเชื้อจากสัตว์อื่นๆ ในตลาดซื้อขายอาหารท้องถิ่นทั้งหลาย”

ในคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกนี้ มีการระบุว่า สัตว์ป่าที่ถูกขังอยู่ในกรงหรือเล้า รวมทั้งเมื่อถูกนำไปชำแหละ และเอามาวางขายตามตลาด กลายมาเป็นพื้นที่ๆ ซึ่งมีการปนเปื้อนของเชื้อจากของเหลว มูล หรือของเสียอื่นๆ จากซากสัตว์ ที่จะนำมาซึ่งความเสี่ยงของการแพร่เชื้อไปยังทั้งคนงานและลูกค้า รวมทั้งสัตว์อื่นๆ ในพื้นที่เดียวกันได้

นอกจากนั้น หน่วยงานทั้ง 3 แห่งยังแนะนำให้มีการยกระดับมาตรฐานทั้งหลายในตลาดอาหารต่างๆ รวมทั้งมีการดำเนินมาตรการควบคุมการเลี้ยงและการขายสัตว์ป่าในตลาดอาหารให้เข้มข้นมากขึ้น รวมทั้ง มีการอบรบผู้ตรวจการงานที่เกี่ยวกับโรคของสัตว์และด้านอาหาร การเฝ้าระวังการเกิดการระบาดของโรคในสัตว์ที่ดีขึ้น และการเผยแพร่ข้อมูลเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

XS
SM
MD
LG