ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทำไมถั่วลิสงถึง ‘เต้นระบำ’ เมื่ออยู่ในแก้วเบียร์


This photo released on June 13, 2023, by the Ludwig Maximilian University of Munich, shows a phenomenon scientists are studying: Roasted peanuts in a glass of lager beer. (Photo by Markus Schmid / Ludwig Maximilian University of Munich / AFP)
This photo released on June 13, 2023, by the Ludwig Maximilian University of Munich, shows a phenomenon scientists are studying: Roasted peanuts in a glass of lager beer. (Photo by Markus Schmid / Ludwig Maximilian University of Munich / AFP)

ใครที่ไม่เคยสังเกตให้ลองหย่อนถั่วลิสงลงไปในแก้วเบียร์ดู แล้วจะพบว่า ถั่วนั้นจะจมลงสู่ก้นแก้วก่อนที่จะลอยกลับขึ้นมา "เต้นระบำ" อยู่ในแก้ว

นักวิทยาศาสตร์ศึกษากระบวนการนี้ในการศึกษาเกี่ยวกับเครื่องดื่มเบียร์ที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Royal Society Open Science ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจถึงวิธีการสกัดแร่หรือการปะทุตัวของแมกมาในเปลือกโลกได้

ลูอิซ เปเรรา (Luiz Pereira) นักวิจัยชาวบราซิลซึ่งเป็นหัวหน้าการเขียนรายงานการศึกษานี้ บอกกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า เขามีความคิดที่จะศึกษาเรื่องนี้เป็นครั้งแรก ในขณะที่เดินทางผ่านกรุงบัวโนสไอเรส เมืองหลวงของอาร์เจนตินา เพื่อไปเรียนภาษาสเปน หลังจากที่ได้เห็น “บาร์เทนเดอร์" ในเมืองนั้นหยิบถั่วลิสงสองสามเม็ดแล้วหย่อนลงไปในแก้วเบียร์

การที่ถั่วลิสงมีความหนาแน่นมากกว่าเบียร์ จึงทำให้มันจมลงสู่ก้นแก้วก่อน จากนั้นถั่วลิสงแต่ละเม็ดจะกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า "จุดกำเนิดนิวเคลียส" โดยจะมีฟองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขนาดเล็กหลายร้อยฟองก่อตัวขึ้นบนพื้นผิว และฟองเหล่านั้นทำหน้าที่เสมือนชูชีพที่นำถั่วลิสงลอยกลับขึ้นด้านบน

เปเรรา นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Ludwig Maximilian University of Munich ของเยอรมนีกล่าวว่า “ฟองก๊าซมักจะก่อตัวบนถั่วลิสงมากกว่าบนแก้ว…” และเมื่อฟองเหล่านั้นลอยขึ้นมาถึงผิวน้ำ พวกมันก็จะแตกออก

จากนั้น ถั่วลิสงจะจมลงสู่ก้นแก้วอีกครั้ง ก่อนที่ฟองที่เกิดขึ้นใหม่จะส่งถั่วลิสงกลับขึ้นมาบนพื้นผิว ซึ่งดูแล้วเหมือนกับการเต้นระบำ โดยที่ถั่วลิสงจะจมและลอยกลับขึ้นมาอยู่อย่างนั้นจนกว่าคาร์บอนไดออกไซด์จะหมดไป หรือมีคนดื่มเบียร์แก้วนั้นไป

"ระบบเบียร์-ก๊าซ-ถั่วลิสง"

ในการทดลองนี้ ทีมนักวิจัยในเยอรมนี อังกฤษ และฝรั่งเศส ได้ศึกษาว่า ถั่วลิสงทำหน้าที่อย่างไรในสิ่งที่นักวิจัยเรียกว่าเป็น "ระบบเบียร์-ก๊าซ-ถั่วลิสง"

พวกเขาพบว่ายิ่งมี "มุมสัมผัส" ระหว่างเส้นโค้งของฟองก๊าซแต่ละฟองกับผิวของถั่วลิสงมากเท่าไร โอกาสที่ฟองก๊าซจะขยายใหญ่ก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ฟองก๊าซเหล่านั้นจะไม่ขยายใหญ่เกินไป โดยขนาดที่ไม่เกิน 1.3 มิลลิเมตรจะเป็นขนาดดีที่สุด

เปเรรากล่าวว่า เขาหวังว่า การศึกษาวิจัยอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับระบบที่เรียบง่ายที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้นี้ จะช่วยให้เข้าใจถึงระบบซึ่ง “จะเป็นประโยชน์สำหรับอุตสาหกรรมหรือสามารถอธิบายกระบวนการทางธรรมชาติได้” ตัวอย่างเช่น กระบวนการลอยตัวดังกล่าวนั้นคล้ายกับกระบวนการที่ใช้ในการแยกเหล็กออกจากสินแร่

ทั้งนี้ การฉีดอากาศเข้าไปในส่วนผสมที่มีแร่ธาตุ เช่น เหล็ก จะทำให้พวกมันลอยตัวขึ้นมาเพราะฟองอากาศจะเกาะตัวได้ง่ายกว่า ในขณะที่แร่ธาตุอื่น ๆ จะจมลงไป

ในขณะเดียวกัน กระบวนการเดียวกันนี้ยังสามารถอธิบายได้ว่า เหตุใดนักภูเขาไฟวิทยาจึงพบว่า แร่แมกนีไทต์ลอยขึ้นไปสู่ชั้นเปลือกโลกในระดับที่สูงกว่าที่คาดไว้

แม้ว่า แมกนีไทต์ซึ่งมีความหนาแน่นมากกว่าและควรจะจมอยู่ด้านล่างเช่นเดียวกับถั่วลิสง แต่นักวิจัยชี้ว่า มุมสัมผัสสูงทำให้เกิดฟองก๊าซที่นำพาแร่ลอยผ่านแมกมาขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม กระบวนการทางวิทยาศาสตร์นี้ยังไม่เคยมีข้อสรุป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีเบียร์เข้ามาเกี่ยวข้อง

เปเรรากล่าวทิ้งท้ายว่า นักวิทยาศาสตร์หวังว่า จะสร้างแบบจำลองการเต้นระบำของถั่วลิสงที่ดีขึ้น โดยจะทำการทดลองต่อไปเรื่อย ๆ กับถั่วลิสงและเบียร์ชนิดต่าง ๆ

  • ที่มา: เอเอฟพี
XS
SM
MD
LG