ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์: ทำไมจีนดูใจเย็นในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ?


ในขณะที่จีนกำลังเผชิญความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจซบเซาในระยะยาว สืบเนื่องจากวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่คุกคามเสถียรภาพทางการเงิน กลับมีคำถามเพิ่มขึ้นว่าทำไมผู้นำจีนจึงไม่เร่งแก้ไขจัดการปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

บรรดานักลงทุน นักวิเคราะห์และนักการทูต ต่างชี้ถึงสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลกรุงปักกิ่งดูลังเลที่จะใช้นโยบายที่เข้มแข็งในการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งซบเซามาตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งแตกต่างจากท่าทีและการตัดสินใจที่เด็ดขาดดังเช่นในอดีต

นักวิเคราะห์ชี้ว่าปัญหาเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบัน มีปมเรื่องภูมิศาสตร์การเมืองโลกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะความตึงเครียดกับสหรัฐฯ ในประเด็นไต้หวันและเรื่องอื่น ๆ โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่า เศรษฐกิจจีนที่กำลังมีปัญหานั้นเปรียบเสมือน "ระเบิดเวลา"

คำถามคือ ทำไมจีนจึงดูใจเย็นและเฉื่อยชาที่จะจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นนี้?

ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง
ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง
เหล่าผู้ติดตามการเมืองจีนเชื่อว่า นโยบายของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่มุ่งเน้นสร้างความมั่นคงในประเทศ กำลังจำกัดและขัดขวางความพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจ และทำให้บริษัทต่างชาติจำนวนมากไม่กล้าเข้าไปลงทุนในจีน

คริสโตเฟอร์ เบดดอร์ รองผู้อำนวยการแผนกจีนของสถาบัน Gavekal Dragonomics กล่าวว่า "ปัญหาหลักของจีนในปีนี้คือบรรดาผู้นำมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับต้องรักษาสมดุลระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจกับความมั่นคงแห่งชาติ" และว่า "หากเรื่องไหนเจ้าหน้าที่ไม่แน่ใจว่าผู้นำต้องการให้ทำอย่างไร พวกเขาก็มักรีรอที่จะปฏิบัติงานจนกว่าจะได้รับคำสั่งหรือข้อมูลเพิ่มเติม ผลก็คือเกิดสภาวะชะงักงันทางนโยบาย แม้ว่าการทำเช่นนั้นจะมีต้นทุนสูงก็ตาม"

ในอดีตที่ผ่านมา รัฐบาลจีนมักจัดการปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่นการรับมือความกังวลในช่วงวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2008-2009 และความหวาดกลัวปัญหาเงินทุนไหลออกนอกประเทศเมื่อปี 2015

สำหรับครั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าจีนจำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศและสร้างความมั่นใจของภาคธุรกิจ เช่น การลดภาษีหรือให้เงินสนับสนุนการจับจ่ายซื้อสินค้า เป็นต้น

แต่ทางการจีนได้ออกมาตอบโต้เสียงวิจารณ์ดังกล่าว โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน หวัง เหวินปิน กล่าวเมื่อวันพุธว่า "นักการเมืองและสื่อมวลชนของชาติตะวันตกจำนวนหนึ่งพยายามทำให้ปัญหาเศรษฐกิจชั่วคราวของจีนในขณะนี้ดูใหญ่โตเกินจริง" "พวกเขาจะถูกตบหน้าด้วยความเป็นจริงในที่สุด"

คำกล่าวของโฆษกหวังมีขึ้นหลังจากที่ข้อมูลทางเศรษฐกิจของจีนที่เปิดเผยเมื่อวันอังคารชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจจีนกำลังเดินหน้าสู่ภาวะซบเซาเป็นระยะเวลานานกว่าที่คาดไว้

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลจีนได้สั่งยกเลิกการเผยแพร่ข้อมูลอัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวซึ่งเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นสถิติใหม่ ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะการควบคุมและจัดระเบียบบริษัทขนาดใหญ่ในภาคเทคโนโลยี การศึกษา อสังริมทรัพย์และการเงิน

และในวันพฤหัสบดี สภาแห่งชาติของจีนระบุว่าจะพยายามสร้างสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนบริษัทเอกชนและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ถึงกระนั้น บรรดานักการทูตต่างชาติในจีนชี้ว่า มีความย้อนแย้งระหว่างสิ่งที่ทางการจีนระบุ กับมาตรการจัดระเบียบด้านความมั่นคงที่รัฐบาลนำมาใช้กับบริษัทต่างชาติ เช่น การบุกค้นบริษัทต่างชาติบางแห่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ภายใต้ข้ออ้างเรื่องกฎหมายต่อต้านการจารกรรม ซึ่งสร้างความกังวลให้แก่บรรดาชุมชนธุรกิจจากต่างประเทศ

ซู เฉิงกัง นักวิชาการแห่งศูนย์เศรษฐกิจและสถาบันจีน มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ยังระบุถึงเหตุผลอื่นที่อาจทำให้บรรดาผู้นำจีนยังไม่เร่งรีบกระตุ้นความมั่นใจในภาคเอกชน นั่นคือความหวาดกลัวลึก ๆ ว่า ระบบทุนนิยมและเศรษฐกิจที่พึ่งพาเอกชนมากเกินไปอาจย้อนกลับมาทำร้ายพรรคคอมมิวนิสต์จีนเองได้

นักวิเคราะห์ผู้นี้เชื่อว่า แนวคิดดังกล่าวกำลังถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้งในการดำรงตำแหน่งสมัยที่สามของสี จิ้นผิง ที่ห้อมล้อมไปด้วยผู้ที่จงรักภักดีต่อตนเอง

  • ที่มา: รอยเตอร์
XS
SM
MD
LG