ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ชาติตะวันตกพยายามหาคำตอบ 'เป้าหมายด้านภูมิรัฐศาสตร์' ของรัสเซียในยุโรป


Russia Ukraine Military Drills
Russia Ukraine Military Drills

ในสัปดาห์นี้ มีการประชุมระดับสูงหลายครั้งระหว่างรัสเซียกับทั้งสหรัฐฯ องค์การนาโต้ และองค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป หรือ OSC เพื่อพยายามหาทางออกสำหรับความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครนจากการเสริมกำลังทหารของรัสเซียกว่าหนึ่งแสนคนตามแนวพรมแดนที่ติดกับยูเครน

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ผู้กำหนดนโยบายของประเทศตะวันตกหลายคนยังงุนงงและพยายามค้นหาคำตอบเกี่ยวกับเจตนาที่แท้จริงของรัฐบาลเครมลินในเรื่องนี้อยู่ โดยขณะที่ผู้นำของกลุ่มประเทศตะวันตกและองค์การนาโต้มีกำหนดหารือกับผู้นำของรัสเซียในสัปดาห์นี้เพื่อพิจารณาข้อเรียกร้องจากมอสโกที่ให้องค์การนาโต้ถอนกำลังทหารออกจากประเทศในยุโรปตะวันออกที่เคยเป็นบริวารของสหภาพโซเวียตเดิมมาก่อน รวมทั้งขอให้มีการรับรองว่านาโต้จะไม่ขยายสมาชิกเพิ่มขึ้นด้วยนั้น คำถามซึ่งบรรดาผู้นำประเทศตะวันตกยังไม่แน่ใจ และกำลังพยายามหาคำตอบอยู่ ก็คือ เครมลินกำลังเตรียมการเพื่อบุกยูเครน ประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนประชิดติดกันแต่ในช่วงหลังนี้มีความโอนเอียงเข้ากับโลกฝ่ายตะวันตกมากขึ้น หรือว่าการสร้างสมกำลังทหารของรัสเซียดังกล่าวเป็นเพียงเกมทดสอบใจในความพยายามของประธานาธิบดีปูตินที่จะสร้างเงื่อนไขกดดันเพื่อให้รัสเซียได้รับการผ่อนปรนและได้รับประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่ตนต้องการ ถ้ามองย้อนกลับไปเมื่อราว 80 ปีที่แล้ว สมัยที่โจเซฟ สตาลิน เป็นผู้ปกครองเผด็จการของสหภาพโซเวียตอยู่นั้น ผู้นำโลกตะวันตกก็ได้เคยพยายามอ่านความตั้งใจที่แท้จริงของสหภาพโซเวียตเช่นกัน

โดยในครั้งนั้น กาย ริดเดลล์ (Guy Liddell) เจ้าหน้าที่ข่าวกรองระดับสูงของอังกฤษได้เขียนไว้ในบันทึกส่วนตัวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1948 ว่า เป็นเรื่องยากทีเดียวที่จะประเมินว่าเครมลินกำลังวางแผนรุกทางทหารอยู่หรือไม่ โดย กาย ริดเดลล์ บันทึกว่า ในขณะที่รัฐบาลสหภาพโซเวียตขณะนั้นอ้างว่าตนมีวัตถุประสงค์ในทางสันติ และการเสริมสร้างกำลังทหารก็เป็นเพียงการป้องกันตนเองในทางยุทธศาสตร์นั้น การเตรียมการและการดำเนินการทางทหารทุกอย่างของมอสโกล้วนสอดคล้องกับแนวนโยบายเพื่อการใช้กำลังคุกคาม

และเพียงสองอาทิตย์ให้หลัง สหภาพโซเวียตก็สามารถเข้าควบคุมรัฐบาลของเชกโกสโลวาเกีย ซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยรายสุดท้ายที่เหลืออยู่ในยุโรปตะวันออกขณะนั้นได้ ทำให้มีการแบ่งยุโรปออกเป็นสองค่ายซึ่งตามมาด้วยสงครามเย็นเป็นเวลาอีก 40 ปี ในขณะนี้เช่นกัน ผู้กำหนดนโยบายของประเทศตะวันตกยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่เกี่ยวกับเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประธานาธิบดีปูตินในการเสริมกำลังทหารกว่าหนึ่งแสนคนตามแนวพรมแดนที่ติดกับยูเครน ว่าการเดินหมากทางทหารครั้งนี้มาจากเจตนาเพื่อจะฉวยโอกาสขยายอำนาจ หรือมาจากความรู้สึกไม่มั่นคงว่ารัสเซียกำลังถูกคุกคามจากกลุ่มประเทศตะวันตกและองค์การนาโต้กันแน่

นักการทูตของประเทศตะวันตกบางคนถึงกับเชื่อว่า ประธานาธิบดีปูตินตั้งใจจะทำให้การเจรจาที่มีขึ้นกับฝ่ายต่าง ๆ ขณะนี้ล้มเหลว เพื่อใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการส่งทหารเข้ายึดพื้นที่ของยูเครนเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2014 เมื่อรัสเซียผนวกคาบสมุทรไครเมีย และยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ในภูมิภาคดอนบาสของยูเครน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของตน และขณะที่สหรัฐฯ กับหลายประเทศในยุโรปจะมีคำเตือนอย่างชัดเจนว่า รัสเซียจะต้องได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงรวมทั้งต้องถูกลงโทษทางเศรษฐกิจหากส่งทหารเข้าบุกยูเครนนั้น ผู้นำของประเทศในยุโรปเองก็ยังมีทีท่าซึ่งแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น นายโอลาฟ โชลซ์ (Olaf Scholz) นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเยอรมนี ต้องการพบปะแบบซึ่งหน้ากับผู้นำของรัสเซียในช่วงหลังของเดือนนี้ และได้พูดถึงความต้องการที่จะ "เริ่มต้นใหม่” กับรัสเซียด้วย

แต่ประธานาธิบดีซอลลี นีนิสโต (Sauli Niinisto) ของฟินแลนด์ ซึ่งมีแนวทางแข็งกร้าวมากกว่า ได้บอกปัดข้อเรียกร้องจากรัสเซียที่ไม่ต้องการให้นาโต้รับสมาชิกใหม่ ทั้งยังย้ำยืนยันสิทธิของฟินแลนด์ที่จะเข้าร่วมในองค์การนาโต้ด้วย

ส่วนสวีเดน ถึงแม้จะไม่ได้เป็นสมาชิกขององค์การนาโต้ก็ตาม แต่ได้มีความร่วมมือทางทหารกับนาโต้มากขึ้น ก็ประกาศเช่นกันว่า รัสเซียไม่มีสิทธิที่จะกำหนดว่าประเทศใดสามารถหรือไม่สามารถเข้าร่วมอยู่ในองค์การเพื่อการป้องกันตนเองแอตแลนติกเหนือหรือ องค์การนาโต้ ที่ว่านี้ได้ ในส่วนขององค์การนาโต้เองนั้น เจ้าหน้าที่ของนาโต้ได้บอกปัดข้อเรียกร้องจากรัสเซียเรื่องการให้หลักประกันความมั่นคง ให้ยุติการขยายสมาชิก รวมทั้งให้ถอนกำลังทหารออกจากเจ็ดประเทศในยุโรปตอนกลางซึ่งเคยเป็นบริวารของสหภาพโซเวียตมาก่อน ว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ นอกจากนั้นเครมลินยังเรียกร้องให้สหรัฐฯ ถอนระบบอาวุธทางยุทธวิธีออกจากยุโรป แต่ก็ไม่ได้เสนอแผนในส่วนของตนที่จะลดอาวุธดังกล่าวลงแต่อย่างใด ในขณะที่นักวิเคราะห์ของประเทศตะวันตกยังมีความเห็นไม่ตรงกันเรื่องเจตนาที่แท้จริงของประธานาธิบดีปูตินในการเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ และองค์การนาโต้ครั้งนี้ นายเฮนรี คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger) อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เคยตั้งข้อสังเกตว่า กลยุทธ์ของรัสเซียมักเป็นการลองเตะประตูทุกบานเพื่อดูว่าบานไหนที่จะหลุดลงมาก่อน

ส่วนนายแอนดรูว์ มาร์แชลล์ (Andrew Marshall) นักวิเคราะห์ของหน่วยงานชื่อ Atlantic Council ในสหรัฐฯ ก็ตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่า เดิมพันของเกมภูมิรัฐศาสตร์ในยุโรปครั้งนี้อาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แห่งยุค เพราะผลจากความขัดแย้งและกรณีพิพาทดังกล่าวจะสามารถกำหนดเงื่อนไขและรูปแบบใหม่ของความมั่นคงบนทวีปยุโรปได้นานถึงหนึ่งชั่วอายุคน หรืออย่างน้อยเป็นเวลา 20 ถึง 30 ปี ต่อจากนี้เลยทีเดียว

XS
SM
MD
LG