ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สหรัฐฯ ผิดนัดชำระหนี้ จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไร?


The US Capitol is seen in Washington, May 21, 2023.
The US Capitol is seen in Washington, May 21, 2023.

หากวิกฤตหนี้ภาครัฐของอเมริกาไม่ได้รับการแก้ไขก่อนเส้นตาย 1 มิถุนายนนี้ สิ่งที่จะได้เห็นอันดับแรก คือ การที่รัฐบาลวอชิงตันจะนำพาสหรัฐฯ พุ่งเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง ทว่าเศรษฐกิจอเมริกันจะไม่ดำดิ่งอย่างเดียวดาย

ผลกระทบของการผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกของอเมริกาจะสั่นสะเทือนทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คำสั่งซื้อสินค้าจากโรงงานของจีนในสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์มายังสหรัฐฯ จะหดหายแห้งเหือดไป นักลงทุนในสวิตเซอร์แลนด์ที่เคยถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อาจเผชิญกับการขาดทุนมหาศาล บริษัทศรีลังกาอาจไม่สามารถใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นทางเลือกหลบภัยค่าเงินของตนได้อีกต่อไป

Republican members of Congress speak about debt ceiling negotiations in Washington
Republican members of Congress speak about debt ceiling negotiations in Washington

มาร์ค ซานดิ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Moody’s Analytics ฟันธงว่า หากรัฐบาลอเมริกันผิดชำระหนี้ภาครัฐและวิกฤตนี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว “ไม่มีส่วนไหนของเศรษฐกิจโลกที่จะรอดพ้นจากผลกระทบนี้ได้”

ซานดิ จาก Moody’s Analytics ชี้ว่า แม้สหรัฐฯ จะผิดนัดชำระหนี้ไม่เกินสัปดาห์เดียวก็ตาม แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะอ่อนแอลงอย่างมากและรวดเร็ว และจะทำให้ตำแหน่งงานราว 1.5 ล้านตำแหน่งหายไปในทันที

และหากการผิดนัดชำระหนี้กินเวลายาวนานกว่านั้น คือไปจนถึงฤดูร้อนปีนี้ ผลกระทบจะรุนแรงขึ้นไปอีก

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Moody’s Analytics พบในการวิเคราะห์ของเขาว่า เศรษฐกิจอเมริกาจะดิ่งลง ตำแหน่งงาน 7.8 ล้านตำแหน่งจะหายไป อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะพุ่งสูงขึ้น อัตราการว่างงานจะพุ่งจากระดับปัจจุบันที่ 3.4% ไปถึงระดับ 8% และตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะดิ่งลงอย่างหนัก ซึ่งจะทำให้ความมั่งคั่งของภาคครัวเรือนอเมริกันราว 10 ล้านล้านดอลลาร์หายวับไปกับตา

FILE - U.S. senators walk to a press conference to call on U.S. President Joe Biden to negotiate with Republicans in order to make a deal on raising the debt ceiling on Capitol Hill in Washington, May 3, 2023.
FILE - U.S. senators walk to a press conference to call on U.S. President Joe Biden to negotiate with Republicans in order to make a deal on raising the debt ceiling on Capitol Hill in Washington, May 3, 2023.

แน่นอนว่าคงไม่มีใครปล่อยให้ไปถึงจุดนั้น ทางทำเนียบขาวและฝั่งรีพับลิกันในสภาล่าง ต่างหาทางออกให้กับปัญหาหนี้ภาครัฐกันอยู่ ทั้งการหารือที่เริ่มต้นตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมาดำเนินต่อมาถึงค่ำวันจันทร์ตามเวลาสหรัฐฯ ฝั่งรีพับลิกันในสภาล่างขู่ว่าจะปล่อยให้สหรัฐฯ ผิดนัดชำระหนี้ จนกว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดนจะยอมรับการปรับลดค่าใช้จ่ายภาครัฐตามที่เสนอไป

ความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อยู่บนความจริงที่ว่ากิจกรรมทางการเงินต่าง ๆ ตั้งบนพื้นฐานของความเชื่อมั่นว่าอเมริกาสามารถชำระหนี้ผูกพันได้อยู่เสมอ หนี้ภาครัฐของอเมริกาถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยสูงมาโดยตลอด เป็นพื้นฐานของระบบการค้าโลกที่สหรัฐฯ สั่งสมความน่าเชื่อถือมายาวนาน การผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอเมริกันอาจทำให้ตลาดตราสารหนี้มูลค่า 24 ล้านล้านดอลลาร์พังครืนได้ ส่งผลให้ตลาดเงินตลาดทุนชะงักงันและจุดวิกฤตการเงินระหว่างประเทศขึ้นมา

เอสวาร์ พราซาด อาจารย์ด้านนโยบายการค้าจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล และนักวิชาการอาวุโสจากสถาบัน Brookings ให้ทัศนะกับเอพีว่า “การผิดนัดชำระหนี้ถือเป็นตัวกระตุ้น พร้อมกับผลกระทบที่รุนแรงอย่างคาดเดาไม่ได้กับตลาดเงินสหรัฐฯ และทั่วโลก”

ภัยคุกคามด้านเศรษฐกิจโลก เกิดขึ้นไม่นานหลังจากเศรษฐกิจโลกเพิ่งจะเจอปัญหาเงินเฟ้อพุ่งสูง อันเป็นผลสืบเนื่องจากการบุกยูเครนของรัสเซีย ยิ่งไปกว่านั้น หลายประเทศเริ่มคลางแคลงใจถึงบทบาทของอเมริกาในเวทีการเงินโลกมากขึ้นในปัจจุบัน

ในอดีตผู้นำด้านการเมืองอเมริกันจะสามารถหลีกหนีการผิดชำระหนี้และปรับขึ้นเพดานหนี้ได้ทันท่วงที โดยสภาคองเกรสได้ปรับแก้ ปรับขึ้น และขยายกรอบเพดานหนี้มาแล้วถึง 78 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 1980 และครั้งล่าสุดที่ปรับเพดานหนี้ภาครัฐ คือ เมื่อปี 2021

แต่ครั้งนี้สถานการณ์เลวร้ายกว่าก่อน เมื่อมีการแบ่งแยกทางการเมืองในสภาคองเกรสมากขึ้นในระหว่างที่ภาระหนี้พุ่งสูงจากการปรับเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐและการปรับลดภาษีจำนวนมาก ทางรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ แจเน็ต เยลเลน ได้เตือนว่ารัฐบาลอเมริกันอาจผิดชำระหนี้ได้เร็วที่สุดคือ 1 มิถุนายนนี้ หากไม่สามารถขึ้นหรือยกเลิกเพดานหนี้ได้ทัน

คลื่นลูกใหญ่ในระบบการเงินโลก

มอรีส ออบส์เฟลด์ จาก Peterson Institute for International Economics และอดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ให้ทัศนะกับเอพีว่า “หากความน่าเชื่อถือของ (พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ) หยุดลงไปด้วยเหตุผลบางอย่าง อาจส่งคลื่นช็อคลูกใหญ่ต่อระบบการเงินโลก และผลกระทบรุนแรงของการเติบโตของเศรษฐกิจโลกได้”

พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ถูกใช้อย่างกว้างขวางเพื่อเป็นหลักประกันการกู้ยืม เป็นเกราะป้องกันการสูญเสียของภาคธนาคาร และเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยสูงท่ามกลางความผันผวนในตลาดโลก

เมื่อมองในแง่ของความปลอดภัย หนี้ภาครัฐของรัฐบาลอเมริกัน – ตั๋วเงินคลัง พันธบัตร และธนบัตร – ไม่ได้แบกรับความเสี่ยงใด ๆ ภายใต้ระเบียบการเงินระหว่างประเทศ รัฐบาลต่างชาติและนักลงทุนถือครองหนี้ก้อนดังกล่าวเกือบ 7.63 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 31% ในตลาดเงินโลก

เนื่องด้วยอิทธิพลของค่าเงินดอลลาร์ได้ทำให้ค่าเงินนี้เป็นค่าเงินชั้นนำนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเป็นเรื่องง่ายที่สหรัฐฯ จะกู้ยืมเงินมาชำระหนี้ภาครัฐที่กองท่วมได้

แต่ความต้องการค่าเงินดอลลาร์ที่สูง ยังทำให้ค่าเงินดอลลาร์มีมูลค่ามากกว่าค่าเงินอื่น ๆ และนั่นนำมาซึ่งต้นทุนที่สูงเช่นกัน คือ เมื่อค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า สินค้าอเมริกันจะแพงกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งต่างชาติ ทำให้ผู้ส่งออกอเมริกันเสียเปรียบ นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำให้อเมริกาจึงขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่องทุกปีตั้งแต่ปี 1975

FILE PHOTO: Federal Reserve Chair Jerome Powell interest rate announcement on the trading floor at New York Stock Exchange (NYSE) in New York City
FILE PHOTO: Federal Reserve Chair Jerome Powell interest rate announcement on the trading floor at New York Stock Exchange (NYSE) in New York City

คลังเงินดอลลาร์ของธนาคารกลางทั่วโลก

เมื่อส่องไปที่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ จะพบว่าธนาคารกลางทั่วโลก มีสกุลเงินดอลลาร์ 58% รองลงมาคือยูโร 20% และค่าเงินหยวนอยู่ที่ 3% อ้างอิงข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ

นักวิจัยจากระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ ระบุว่าในช่วงปี 1999-2019 96% ของการค้าในทวีปอเมริกาเป็นไปในรูปแบบสกุลเงินดอลลาร์ เช่นเดียวกับการค้าในเอเชียที่ 74% ใช้เงินดอลลาร์เป็นสื่อกลาง ส่วนพื้นที่อื่น ๆ นอกยุโรป 79% ยังทำการค้าด้วยสกุลเงินดอลลาร์

ในประเทศที่ค่าเงินผันผวน ยังใช้สกุลเงินดอลลาร์ในการทำธุรกรรมเป็นหลักอย่างเช่นศรีลังกา ที่เผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ และค่าเงินท้องถิ่นผันผวนหนัก เช่นเดียวกับที่เลบานอนที่เผชิญกับภาวะเงินเฟ้อและค่าเงินอ่อนค่าหนัก ก็หันมาใช้ค่าเงินดอลลาร์แทน และย้อนกลับไปเมื่อปี 2000 เอกวาดอร์รับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจด้วยการเปลี่ยนมาใช้ค่าเงินดอลลาร์แทนสกุลเงินของตนนับแต่นั้น

Iran Currency Crush
Iran Currency Crush

ผู้ลงทุนยังเลือกดอลลาร์

แม้ว่าวิกฤตจะเริ่มต้นจากสหรัฐฯ แต่ค่าเงินดอลลาร์ยังถือว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยสำหรับผู้ลงทุนอยู่เสมอ และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งวิกฤตการเงินปลายปี 2008 ที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์อเมริกันพังคืน ส่งผลให้สถาบันการเงินรายร้อยแห่งล่มสลาย รวมทั้งเลห์แมน บราเธอร์ส แต่กลายเป็นว่าค่าเงินดอลลาร์กลับดีดตัวสูงขึ้น

เคลย์ ลาวรี จาก Institute of International Finance ให้ทัศนะกับเอพีว่า แม้ว่าสหรัฐฯ จะเป็นตัวปัญหาก็ตาม แต่เงินดอลลาร์ยังคงเป็นสกุลเงินชั้นนำอยู่ดี

ซานดิ จาก Moody’s Analytics ให้ความเห็นที่สอดรับกันว่า หากสหรัฐฯ มีระดับหนี้ทะลุเพดานไปโดยไม่ได้จัดการปัญหานี้และทางกระทรวงการคลังผิดชำระหนี้แล้ว ค่าเงินดอลลาร์จะยังปรับตัวขึ้นไปได้อยู่ในช่วงแรก “เพราะความผันผวนและความกังวลในตลาดเงินตลาดทุน ผู้ลงทุนทั่วโลกจะยังไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปทางไหน และจะเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยในช่วงวิกฤต และนั่นคือสหรัฐฯ”

แต่ตลาดพันธบัตรและตราสารหนี้อาจจะเป็นอัมพาตไปอย่างไม่ต้องสงสัย ผู้ลงทุนจะย้ายเงินทุนมายังกองทุนการเงินของสหรัฐฯ หรือตราสารหนี้ของบริษัทเอกชนชั้นนำของสหรัฐฯ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ความไม่แน่นอนเหล่านี้จะบีบให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงในที่สุด

FILE - The U.S. Capitol, Dec. 19, 2022 in Washington. A new poll shows most U.S. adults are concerned about impact on the national economy if the U.S. debt limit is not increased.
FILE - The U.S. Capitol, Dec. 19, 2022 in Washington. A new poll shows most U.S. adults are concerned about impact on the national economy if the U.S. debt limit is not increased.

แล้วรัฐบาลอเมริกันมีกลยุทธ์รับมืออย่างไร?

ลาวรี ซึ่งมีบทบาทผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังช่วงวิกฤตการเงินปี 2008 ให้มุมมองว่าภายใต้วิกฤตหนี้ภาครัฐ สหรัฐฯ จะยังสามารถชำระดอกเบี้ยให้กับผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลอยู่ และต้องชำระภาระผูกพันอื่น ๆ อีกด้วย

อย่างเช่น ภาระหนี้ที่ต้องชำระ 3 มิถุนายนนี้ รัฐบาลอาจต้องเลื่อนไปจ่ายวันที่ 5 มิถุนายน และจะเริ่มผ่อนคลายลงไปในช่วงวันที่ 15 มิถุนายน นั่นคือช่วงที่รายรับรัฐบาลจะเข้ามาจากกลุ่มผู้เสียภาษีที่จ่ายภาษีประเมินล่วงหน้าในไตรมาส 2 แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ จะเกิดการฟ้องร้องของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการผิดชำระหนี้ และบริษัทเครดิตเรตติ้งอาจปรับลดความน่าเชื่อถือของหนี้สหรัฐฯ แม้ว่าสหรัฐฯ จะมีความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรอยู่ก็ตามที

ส่วนค่าเงินดอลลาร์ ที่ยังมีอิทธิพลในตลาดโลก แต่เริ่มสูญเสียโมเมนตัมในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จากที่ธนาคารและภาคธุรกิจเริ่มหันไปพึ่งสกุลเงินยูโรและค่าเงินหยวน ประเทศอื่น ๆ ก็เริ่มเห็นความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ที่อาจกระทบค่าเงินและเศรษฐกิจประเทศของตนมากขึ้น

ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าอาจทำให้เกิดวิกฤตการเงินในต่างประเทศได้ จากการที่ผู้ลงทุนย้ายสินทรัพย์จากประเทศอื่นเข้ามาลงทุน และเพิ่มต้นทุนการชำระหนี้ในสกุลเงินดอลลาร์ และการเดินหน้าใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่น ๆ ด้วยสกุลเงินดอลลาร์ก็เป็นสิ่งที่บางประเทศไม่สะดวกใจที่จะบังคับใช้นัก

จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีทางเลือกอื่นใดที่ชัดเจนออกมาว่าจะทดแทนค่าเงินดอลลาร์ได้ เพราะค่าเงินยูโรยังแข็งแกร่งไม่เท่าดอลลาร์ เช่นเดียวกับค่าเงินหยวน ที่รัฐบาลปักกิ่งยังไม่ไฟเขียวให้มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนอย่างเสรีในตลาดโลก

แต่ดราม่าเพดานหนี้สหรัฐฯ ได้นำไปสู่คำถามเกี่ยวกับอำนาจทางการเงินอันมหาศาลของสหรัฐฯ และค่าเงินดอลลาร์อย่างไม่ต้องสงสัย ออบส์เฟลด์ ทิ้งท้ายไว้ว่า “เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะเปราะบางอย่างมากในตอนนี้” และ “การโยนวิกฤต (เพดานหนี้) เข้าไปในกองวิกฤตบนความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ จึงถือเป็นความที่ไร้ความรับผิดชอบอย่างยิ่ง”

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG