ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สหรัฐฯ และสิงคโปร์ ติดสองอันดับแรกประเทศมีความสามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจสูงสุด - ไทยอยู่ที่ 38


The skyline of Singapore's central business district is seen at dusk as operations continue at a PSA International port terminal in Singapore September 25, 2013. Connected to more than 600 ports in some 120 countries, Singapore is one of the world's busie
The skyline of Singapore's central business district is seen at dusk as operations continue at a PSA International port terminal in Singapore September 25, 2013. Connected to more than 600 ports in some 120 countries, Singapore is one of the world's busie

หน่วยงาน World Economic Forum เปิดเผยรายงานการจัดอันดับประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจสูงสุด ซึ่งสหรัฐฯ ติดอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยสิงคโปร์ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่น

การศึกษา Global Competitiveness Report ชิ้นนี้ จัดอันดับประเทศทั้งหมด 140 แห่ง วิเคราะห์ปัจจัยทั้งหมด 12 ตัวแปร เช่น นวัตกรรม ความมั่นคงปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และปัญหาคอร์รัปชั่น

นักวิเคราะห์พบว่าเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจทั่วโลก และประเทศที่ไม่สามารถสร้างทักษะให้คนในประเทศในด้านนี้จะตามหลังประเทศอื่น

นอกจากนี้ การเปิดเสรีเป็นปัจจัยสำคัญต่อศักยภาพในการแข่งขัน ท่ามกลางความขัดแย้งทางการค้าและการต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ในขณะนี้

ผู้จัดทำการศึกษาชิ้นนี้ เธียร์รีย์ ไกเกอร์ (Thierry Geiger) กล่าวว่า ตลาดที่เปิดเสรีมีกลไกการทำงานที่ดีกว่า เพราะการแข่งขันช่วยผลักดันให้เกิดศักยภาพที่เพิ่มขึ้น

เขาบอกด้วยว่า ประเทศที่เปิดกว้างทางเศรษฐกิจสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ รวดเร็วเป็นสองเท่าของระบบเศรษฐกิจที่เปิดเสรีน้อยกว่า

และการมีตลาดเสรียังส่งเสริมการจ้างแรงงานต่างชาติ และไม่ใช้มาตรการกีดกั้นสินค้า จะสามารถกระตุ้นความสามารถในการแข่งขันให้เติบโตแบบก้าวกระโดดได้ดีกว่าประเทศที่มีตลาดค่อนข้างปิด

แม้ว่าอเมริกาจะติดอันดับหนึ่งในการศึกษาชิ้นนี้ของ World Economic Forum เพราะมีพลวัตรทางเศรษฐกิจ ตลาดแรงงาน นวัตกรรมและระบบการเงินนำหน้าคู่แข่ง แต่ยังตามหลังบางประเทศในเรื่อง ความมั่นคง และสุขภาพโดยรวมของประชาชน

ซาเดีย ซาฮิดิ (Saadia Zahidi) หนึ่งในคณะกรรมการบริหาร World Economic Forum กล่าวว่า ความได้เปรียบของสหรัฐฯ อาจได้รับผลกระทบเชิงลบ หากทิศทางที่น่ากังวลยังดำเนินต่อไปในประเด็นต่างๆ เช่น สุขภาพโดยรวมของชาวอเมริกัน ซึ่งตามหลังประเทศอย่างญี่ปุ่นอยู่มาก

นอกจากนั้น เธอกล่าวว่าสัญญาณที่น่ากังวลสำหรับสหรัฐฯ ยังมีเรื่องสายใยทางสังคม และเสรีภาพสื่อ

การศึกษาชิ้นนี้พบว่า จีนติดอันดับ 28 ด้านความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และรั้งที่หนึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศเศรษฐกิจโตเร็วขนาดใหญ่ของกลุ่ม BRICS ซึ่งมีรัสเซียและอินเดียรวมอยู่ด้วย โดยสองประเทศดังกล่าวอยู่อันดับที่ 43 และ 58 ตามลำดับ

ไทย นำหน้ารัสเซียและอินเดีย ในการศึกษาชิ้นนี้ โดยอยู่ที่อันดับ 38 สูงกว่าปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่อันดับ 40

ชิลีได้ที่ 33 และเป็นที่หนึ่งของกลุ่มลาตินอเมริกาและประเทศแถบทะเลแคริเบียน สำหรับประเทศแถบตะวันออกกลาง อิสราเอลได้ที่ 20 ขณะที่ซาอุดิอาระเบียอยู่ที่ 39 ใกล้เคียงกับไทย

สำหรับประเทศรั้งท้ายการจัดอันดับ 140 ประเทศด้านความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ คือประเทศ ช้าด จากทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าในบรรดาประเทศที่ความสามารถในการแข่งขันต่ำสุด 20 แห่ง 17 แห่ง ล้วนเป็นประเทศที่อยู่ด้านล่างทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกา

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ http://reports.weforum.org/global-competitiveness-report-2018/competitiveness-rankings/

(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ Lisa Schlein)

XS
SM
MD
LG