ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักภูเขาไฟวิทยาสายไฮเทคแห่ศึกษาวิกฤตภูเขาไฟปะทุในสเปน


Scientists take geophysics measurements of La Palma on Nov. 13, 2021. (AP Photo/Taner Orribo)
Scientists take geophysics measurements of La Palma on Nov. 13, 2021. (AP Photo/Taner Orribo)

ขณะที่วิกฤตจากการระเบิดของภูเขาไฟบนเกาะ ลา ปัลมา ประเทศสเปน ที่ดำเนินมานานหลายสัปดาห์ยังไม่มีสัญญาณว่าจะยุติในเร็วๆ นี้ นักภูเขาไฟวิทยาที่มีความสนใจในเรื่องเทคโนโลยีหลายรายตัดสินใจย้ายห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของตนไปยังพื้นที่ประสบภัยแห่งนี้ เพื่อทำการศึกษาทุกแง่มุมของภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งนี้กันแล้ว ตามรายงานของสำนักข่าว เอพี

การย้ายฐานการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์สายไฮเทคหลายรายในครั้งนี้ มาพร้อมกับการใช้เครื่องโดรนขึ้นบิน พร้อมๆ กับการใช้อุปกรณ์ตรวจจับที่มีความแม่นยำสูง ที่ทำงานร่วมกับดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์การปล่อยก๊าซต่างๆ และการไหลของลาวา ขณะที่ผู้ที่ปฏิบัติการบนดินเดินหน้าเก็บรวบรวมตัวอย่างอนุภาคต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังการระเบิดของภูเขาไฟเพื่อนำไปศึกษาต่อ

รายงานข่าวระบุว่า การที่นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายตัดสินใจลงพื้นที่ทำการศึกษาครั้งได้เป็นเพราะบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากการระเบิดของภูเขาไฟบนเกาะนี้ อยู่ห่างจากสนามบินนานาชาติไปเพียง 1 ชั่วโมง และยังสามารถดำเนินงานต่างๆ ได้อย่างปลอดภัยด้วยความช่วยเหลือจากกองพลทหารของสเปนนั่นเอง

ทั้งนี้ จุดประสงค์ของการศึกษาการระเบิดของภูเขาไฟ ซึ่งเกิดขึ้นตามจุดต่างๆ ทั่วโลกมาแล้ว ตั้งแต่ ฮาวาย ไปจนถึง อินโดนีเซีย ก็คือ การใช้ช่วงโอกาสที่เกิดขึ้นไม่บ่อยและมีความพิเศษนี้ในการทำความเข้าใจกระบวนการระเบิดของภูเขาไฟ ในแง่ของ การก่อตัว พัฒนาการ และที่มาที่ไป รวมทั้งจุดสิ้นสุด ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้คนที่อาศัยอยู่บนเกาะ

แม้ว่าในปัจจุบัน เทคโนโลยีต่างๆ จะล้ำสมัยขึ้นอย่างต่อเนื่อง นักวิทยาศาสตร์สามารถทำการศึกษาผ่านการประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้ชั้นหินที่แม็กม่า หรือ หินหลอมละลายที่ร้อนมากใต้ผิวโลก ก่อตัวอยู่และมีความร้อนสูงจนละลายอุปกรณ์ทุกชนิดที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย

สถิติโลกที่มีการบันทึกไว้ระบุว่า มนุษย์เคยเจาะลงไปใต้เปลือกโลกที่ความลึกสูงสุดที่กว่า 12 กิโลเมตร โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย ในปี ค.ศ. 1989

แต่การได้ลงพื้นที่ขณะที่เหตุการณ์ระเบิดยังไม่จบลงนี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์มีความหวังที่จะเรียนรู้ทุกอย่างได้เร็วขึ้นแล้ว

ภูเขาไฟ คุมเบร เบียฮา (Cumbre Vieja) บนเกาะ ลา ปัลมา นั้นปะทุขึ้นมาครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กันยายน และยังคงไม่หยุดนิ่งจวบจนปัจจุบัน โดยเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่บนเกาะแห่งนี้เปิดเผยว่า ลาวาร้อนที่ไหลออกมานั้นเข้าท่วมพื้นที่ราว 1,115 เฮกตาร์บนเกาะไปแล้ว และพิบัติภัยที่เกิดขึ้นครั้งนี้ได้ทำลายอาคารบ้านเรือนบนเกาะนี้ไปแล้วเกือบ 2,700 หลัง และทำให้ผู้คนนับพันต้องอพยพหนีตายออกจากเกาะไปแล้วด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีผู้เสียชีวิตไป 1 ราย จากอุบัติเหตุพลัดตกจากหลังคาบ้านขณะทำความสะอาดเถ้าถ่านจากภูเขาไฟ นับตั้งแต่ภูเขาไฟระเบิดขึ้นมา ยังไม่มีกรณีการเสียชีวิตโดยตรงจากการระเบิดแม้แต่รายเดียว

(ที่มา: สำนักข่าว เอพี)

XS
SM
MD
LG