เด็กๆ ที่มีพฤติกรรมหมกมุ่นอยู่กับวีดิโอเกมส์จนกระทั่งถึงขั้นติดเกมส์ มีสัญญานที่แสดงให้เห็นว่ามีแนวโน้มที่จะมีอาการป่วยทางจิต ยืนยันจากผลวิจัยชิ้นใหม่ที่เผยแพร่ในวารสารด้านกุมารเวชศาสตร์ที่ใช้ทีมนักวิจัยนานาชาติติดตามพฤติกรรมเด็กๆในโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา 3 พันคน มากกว่า 2 ปี พบว่ายิ่งเด็กเล่นเกมส์อย่างหนักเท่าไหร่ก็จะพบปัญหาใหญ่เป็นเงาตามตัว
แม้จะไม่ใช่หนึ่งในทีมวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่นายแพทย์ไมเคิล มาโนส (Michael Manos) นักจิตวิทยาเด็กจาก โรงพยาบาลเด็ก คลีฟแลนด์ คลีนิค ก็ยอมรับในผลการศึกษาชิ้นนี้
นายแพทย์ไมเคิล บอกว่า สิ่งที่งานวิจัยชิ้นนี้ค้นพบเป็นครั้งแรกคือยิ่งเด็กมีอาการติดเกมส์มากขึ้นเท่าไหร่ระดับของภาวะโรคซึมเศร้า ระดับของความวิตกกังวล และระดับของอาการ social phobia หรือ อาการเก็บตัวไม่เข้าสังคม ก็ยิ่งจะเพิ่มมากขึ้น และเมื่อเด็กๆเหล่านี้หยุดพฤติกรรมการติดเกมส์อาการที่กล่าวมาข้างต้นก็จะลดระดับลง
กลุ่มนักวิจัยเรียกเด็กที่มีอาการติดเกมส์ว่า “Pathological Gamers” นักวิจัยเปรียบเทียบเด็ก 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นเด็กที่เล่นวีดิโอเกมส์ประมาณสัปดาห์ละ 31 ชั่วโมง ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งเล่นประมาณ 19 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่าเด็กกลุ่มที่เล่นวีดิโอเกมส์มากกว่าจะมีอาการหลบเลี่ยงไม่ชอบเข้าสังคม หรือ social phobia มากกว่า
นอกจากนี้ผลการวิจัยยังพบว่ายิ่งเด็กๆ ที่มีอาการวู่วามหรือหุนหันพลันแล่น หรือเป็นเด็กที่มีความไม่สบายใจพวกเขาก็จะยิ่งใช้เวลาเล่นเกมส์มากขึ้นเท่านั้น
นายแพทย์ไมเคิล บอกว่า เป็นเหตุผลที่สอดคล้องกันเพราะเด็กๆที่มีอาการหดหู่ หรือวิตกกังวลมากเกินไป พวกเขาก็ยิ่งอยากจะไปเล่นเกมส์เพราะถือว่าเป็นที่ที่ปลอดภัย และช่วยทำให้ผ่อนคลายจากอาการเหล่านั้น
ผลวิจัยชิ้นนี้พบว่าหากลดเวลาการเล่นเกมส์ของเด็กๆลง ก็จะช่วยบรรเทาอาการหดหู่ทางจิตและอาการอื่นๆได้ ซึ่งนายแพทย์ด้านจิตวิทยาเด็กจากคลินิคคลีฟแลนด์ ยืนยันว่าเป็นสิ่งเดียวที่จะสามารถช่วยได้
นายแพทย์ไมเคิล บอกว่า การจำกัดเวลาเป็นสิ่งเดียวที่ทำได้ แต่ถึงกระนั้นเด็กๆที่ติดเกมส์ก็อาจจะมีอาการขัดขืนดังนั้นผู้ปกครองก็อาจจะขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดทางจิต
สถาบันด้านกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา หรือ The American Academy of Pediatrics เสนอการจำกัดเวลาสำหรับเด็กเล็กๆในการเล่นเกมส์ ใช้คอมพิวเตอร์ หรือดูโทรทัศน์ว่าไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่เด็กที่โตกว่าและเข้าโรงเรียนแล้ว ไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน
อย่างไรก็ตามสมาคมซอฟท์แวร์เพื่อการบันเทิง ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย และเรียกผลการศึกษาเหล่านี้ว่าเป็นการศึกษาที่มีข้อผิดพลาด
ติดตามอ่านงานวิจัยที่มีผลการวิจัยที่ท้าทายพฤติกรรมเด็กทั่วโลกในวารสาร Pediatrics ฉบับล่าสุด