ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สหรัฐฯ ยินดีรัฐบาลเงาเมียนมาเสนอให้สถานะพลเมืองชาวโรฮีนจา หากช่วยต่อสู้กองทัพเมียนมา


FILE - Rohingya refugees, who crossed the border from Myanmar, walk toward refugee camps, in Palang Khali, near Cox's Bazar, Bangladesh, Oct. 19, 2017.
FILE - Rohingya refugees, who crossed the border from Myanmar, walk toward refugee camps, in Palang Khali, near Cox's Bazar, Bangladesh, Oct. 19, 2017.

รัฐมนตรีว่าการประทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน กล่าวแสดงความยินดีต่อคำสัญญาของ ‘รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ’ หรือรัฐบาลเงาของเมียนมา ที่เสนอให้สถานะพลเมืองเมียนมาแก่ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮีนจาที่จะอาสาช่วยสู้รบกับกองทัพเมียนมา

รมต.บลิงเคน ทวีตข้อความในวันอาทิตย์ว่า คำสัญญาของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government - NUG) คือการส่งสัญญาณที่สำคัญไปถึงทุกคนที่พยายามสร้างอนาคตทางประชาธิปไตยที่ครอบคลุมขึ้นในเมียนมา

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แสดงความยินดีที่รัฐบาลเงาพยายามแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติและการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮีนจา ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวโรฮีนจาหลายแสนคนจากรัฐยะไข่ต้องอพยพไปยังบริเวณชายแดนติดกับบังกลาเทศจนถึงขณะนี้

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลเงาเมียนมาซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยสมาชิกรัฐสภาที่ถูกยึดอำนาจ มีแถลงการณ์เรียกร้องให้ชาวโรอีนจาเข้าร่วมในการโค่นล้มรัฐบาลทหารซึ่งยึดอำนาจมาจากรัฐบาลพลเรือนของนางออง ซาน ซูจี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ โดยให้สัญญาว่าจะให้สถานะพลเมืองแก่ชาวมุสลิมเหล่านั้นเมื่อเมียนมากลับสู่เส้นทางประชาธิปไตย

NUG สัญญาว่าจะเพิกถอนกฎหมายเมื่อปี ค.ศ.1982 ซึ่งปฏิเสธการให้สถานะพลเมืองแก่ชาวโรฮีนจาส่วนใหญ่ และจะนำชาวโรฮีนจามากกว่า 740,000 คนที่ลี้ภัยอยู่บริเวณชายแดนบังกลาเทศกลับสู่ถิ่นฐานของพวกเขาด้วย

มูฮัมหมัด ทาเฮอร์ คุณครูชาวโรฮีนจา ผู้อาศัยอยู่ในค่ายลี้ภัยในบังกลาเทศ กล่าวกับวีโอเอว่า ตนยินดีต่อคำสัญญาของ NUG และขอบคุณที่รัฐบาลเงาใช้คำเรียกพวกตนว่า "โรฮีนจา" แทนคำว่า "มุสลิมที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่" เหมือนที่กองทัพเมียนมาเรียก อย่างไรก็ตาม ทาเฮอร์บอกว่า ยังไม่มั่นใจนักต่อคำสัญญานี้ และว่า ยังไม่มีผู้แทนของชาวโรฮีนจาเข้าไปรวมอยู่ในรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติแต่อย่างใด

ที่ผ่านมา รัฐบาลเมียนมาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเรื่องการปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมกลุ่มนี้ ขณะที่สหประชาชาติเรียกการใช้กำลังทางทหารปราบปรามชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ว่าเป็น “ความพยายามสังหารล้างเผ่าพันธุ์” ซึ่งนางซูจีได้ออกมาปกป้องการกระทำดังกล่าวของทหารเมียนมาเมื่อตอนที่เธอยังอยู่ในอำนาจ

เมื่อเดือนที่แล้ว สำนักขาวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงบทสัมภาษณ์ของพลเอกมิน อ่อง หลาย ผู้นำสูงสุดของกองทัพเมียนมา ที่กล่าวกับสถานีโทรทัศน์ภาษาจีน Phoenix เรื่องการรับผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจากลับประเทศ

โดยผู้นำทหารเมียนมาระบุว่า “หากเป็นสิ่งที่ขัดกับกฎหมายของเมียนมา ตนก็ไม่สามารถทำอะไรได้” และว่า “คงไม่มีประเทศไหนในโลกที่ยอมละเมิดกฎหมายของตัวเองเพื่อยอมรับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศ”

XS
SM
MD
LG