ลิ้งค์เชื่อมต่อ

จับประเด็นเสวนา ครบ 190 ปี ความสัมพันธ์ไทย – สหรัฐฯ เทศมองไทยจับตา ความท้าทายจากจีน และความคาดหวังการเลือกตั้งไทย


A seminar "US - Thailand relations at 190 Years: Past, Present, Future" organized by the Asia Foundation and the Royal Thai Embassy on March 20, 2023
A seminar "US - Thailand relations at 190 Years: Past, Present, Future" organized by the Asia Foundation and the Royal Thai Embassy on March 20, 2023

งานเสวนาวิชาการ 190 ปี ความสัมพันธ์ ไทย-สหรัฐฯ : อดีต ปัจจุบัน อนาคต ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงวอชิงตัน ร่วมกับ องค์กรเอกชน The Asia Foundation ร่วมจัดขึ้น ในโอกาสการครบรอบ 190 ปี ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างไทยและสหรัฐฯ โดยมีการเสวนาถึงความสัมพันธ์ของไทย-สหรัฐฯ ในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง รวมถึงประเด็นอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีนในภูมิภาค และความคาดหวังของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ต่อการเลือกตั้งใหญ่ในไทยที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้

พ.ท. หญิง ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ เชื้อสายไทย กล่าวเปิดงานผ่านทางคลิปวิดีโอ ถึงความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างไทย-สหรัฐฯ ทั้งในรูปแบบดั้งเดิมทั้งทางด้านการทหาร การทูต เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ไปจนถึงความท้าทายในรูปแบบใหม่ เช่น ความมั่นคงทางด้านไซเบอร์

“ในวันนี้ มีชาวไทยกว่า 300,000 คน รวมถึงดิฉัน และอีกหลายพันคนมาศึกษาในสหรัฐฯ ทุกเทอม เฉพาะในปี ค.ศ.2020 มีบริษัทอเมริกันหลายร้อยบริษัทลงทุนเป็นเงินราว 50,000 ล้านดอลลาร์ในไทย- สหรัฐฯ .. ไทยยังร่วมซ้อมรบกว่า 400 ครั้งทุกปี รวมทั้งการฝึก ‘คอบร้า โกลด์’ ที่เป็นการฝึกซ้อมทางทหารแบบพหุภาคีที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก” สว.สหรัฐฯ เชื้อสายไทย ยกตัวอย่างตัวเลขที่น่าสนใจของความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ

Senator Tammy Duckworth speaks in a prerecorded video during a seminar "US - Thailnad Relations at 190 Years: Past, Present, Future"
Senator Tammy Duckworth speaks in a prerecorded video during a seminar "US - Thailnad Relations at 190 Years: Past, Present, Future"

ทางด้านเมลิซ่า บราวน์ (Melissa Brown) ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กิจการภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงพัฒนาการความสัมพันธ์ที่น่าสนใจระหว่างไทย – สหรัฐฯ ในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ ที่ทั้งไทยและสหรัฐฯ และประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอีก 11 ประเทศ เป็นสมาชิกของกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด – แปซิฟิก ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มทางเศรษฐกิจที่เปิดตัวในยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพื่อ “สร้างกรอบความร่วมมือเพื่อรับมือความท้าทายในศตวรรษที่ 21 เพื่อรับรองว่า ประเทศสมาชิกจะได้ (ประโยชน์จาก) ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจร่วมกัน”

“ตามที่ ปธน. ไบเดน กล่าวไว้ว่า พันธมิตร (ระหว่างไทย-สหรัฐฯ) เป็นรากฐานอันมั่นคงของวิสัยทัศน์ร่วมกันของเรา ในการมีภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรี เปิดกว้าง มีความเชื่อมโยง มั่นคงและมั่งคั่ง”ผช. รมว.ต่างประเทศสหรัฐ กล่าว และว่า ในปีนี้ สหรัฐฯ ยังได้จัดงานแสดงสินค้าขนาดใหญ่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ เช่น ‘VIV Asia’ ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าจากสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และ ‘Trade Winds’ ซึ่งเป็นการประชุมด้านการพัฒนาการค้าและธุรกิจที่นำโดยรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ใหญ่ที่สุด โดยมีบริษัทกว่า 100 บริษัทจาก 20 ภาคส่วนเข้าร่วมเพื่อขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าในไทย และเมื่อปีที่แล้ว ไทยยังเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค โดยชูประเด็นเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว

“เช่นเดียวกับที่ไทยและประเทศเอเปคอื่น ๆ ร่วมกันบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาการเติบโตที่ยั่งยืนและมีส่วนร่วมโดยทุกฝ่ายในภูมิภาค ในลักษณะเดียวกัน ไทยยังเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญในการข่วยแก้วิกฤตภูมิภาคโดยรัฐบาลพม่า ไทยมีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะภายในอาเซียน ในการทำให้รัฐบาล (พม่า) ต้องรับผิดชอบ และเรียกร้องให้มีการยุติความรุนแรงโดยทันที” ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กิจการภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

Thai ambassador to the US Tanee Saengrat (left) and Melissa Brown, Deputy Assistant Secretary for Southeast Asia at the State Department (right), discuss during a seminar "US - Thailand relations at 190 Years: Past, Present, Future" organized by the Asia Foundation and the Royal Thai Embassy on March 20, 2023
Thai ambassador to the US Tanee Saengrat (left) and Melissa Brown, Deputy Assistant Secretary for Southeast Asia at the State Department (right), discuss during a seminar "US - Thailand relations at 190 Years: Past, Present, Future" organized by the Asia Foundation and the Royal Thai Embassy on March 20, 2023

ด้านนายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน กล่าวย้อนไปถึงความสัมพันธ์ของไทย-สหรัฐฯ ที่ดำเนินมาเกือบครบ 190 ปี (ทั้งสองประเทศได้ลงนามสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2376 หรือ ค.ศ. 1833 สมัยแผ่นดินรัชกาลที่ 3) นับตั้งแต่ช่วงล่าอาณานิคมที่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศได้ช่วยยกระดับทางการทูตของไทยท่ามกลางลัทธิล่าอาณานิคมของยุโรปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 สืบเนื่องมาจนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

ต่อมาในช่วงสงครามเย็น ไทยและสหรัฐฯ ร่วมลงนามในแถลงการณ์ถนัด-รัสก์ เมื่อปี ค.ศ. 1962 (พ.ศ.2505) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาด้านความมั่นคงร่วมกันของทั้งสองประเทศ โดยสหรัฐฯ รับรองว่าจะช่วยเหลือไทยหากเผชิญกับการรุกรานจากประเทศเพื่อนบ้าน“นับตั้งแต่ช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐฯ เป็นผู้รับประกันสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคของเรา และไทยภูมิใจที่มีบทบาทสำคัญในการบรรลุเป้าหมายนั้น” ทูตไทยประจำสหรัฐฯ กล่าว

นายธานีกล่าวต่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทย – สหรัฐฯ ในปัจจุบันว่า ทั้งสองประเทศต่างลงทุนซึ่งกันและกัน เช่น ภาคเอกชนไทยที่ประกอบการด้านพลังงาน การผลิตพลาสติก เคมีภัณฑ์ ซอฟท์แวร์ และชิ้นส่วนไอที ในรัฐต่าง ๆ ราว 27 รัฐ เช่น รัฐเท็กซัส โอไฮโอ แคลิฟอร์เนีย มินนิโซตา สร้างงานให้กับประชาชนในพื้นที่เกือบ 6,000 ตำแหน่ง ขณะที่บริษัทอเมริกันก็ลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นเช่นกัน

“ความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นหนึ่งในประเด็นที่สำคัญที่สุดของเรา เนื่องจากเราต้องการเชื่อมโยงกับระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ ด้านสตาร์ทอัพและนวัตกรรมที่มีเป็นจำนวนมากในสหรัฐฯ” นายธานีกล่าวเสริม

Catherin Dalpino (center), Professor Emeritus at Georgetown University, speaks during a seminar "US - Thailand relations at 190 Years: Past, Present, Future" organized by the Asia Foundation and the Royal Thai Embassy on March 20, 2023
Catherin Dalpino (center), Professor Emeritus at Georgetown University, speaks during a seminar "US - Thailand relations at 190 Years: Past, Present, Future" organized by the Asia Foundation and the Royal Thai Embassy on March 20, 2023

ทางด้านศาสตราจารย์เกียรติคุณ แคทเธอริน ดัลพีโน (Catharin Dalpino) นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กล่าวเน้นถึงความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ในแง่ของการส่งเสริมประชาธิปไตยในภูมิภาครวมทั้งไทย โดยกล่าวว่า ขณะที่สหรัฐฯ มีพันธกิจทางกฎหมายที่ต้องระงับความช่วยเหลือด้านความมั่นคงบางอย่างเมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้นในไทย แต่สหรัฐฯ ก็ไม่ได้เป็นผู้ร่วมกำหนดรากฐานประชาธิปไตยของไทย ซึ่งแตกต่างจากในประเทศอื่นในภูมิภาค เช่น ฟิลิปปินส์

“ฉันคิดว่า การที่ (สหรัฐฯ) ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นผู้ร่วมกำหนดรากฐานประชาธิปไตยในประเทศ (ไทย) เป็นเรื่องที่ดี เพราะประชาธิปไตยจะพัฒนาไปได้อย่างเป็นธรรมชาติกว่ามาก และฉันคิดว่านั่นเป็นจุดแข็งของความสัมพันธ์สหรัฐฯ – ไทย” อาจารย์ดัลพิโนกล่าว

ในแง่ความร่วมมือในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง อาจารย์ดัลพิโนยังเห็นว่า ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างสหรัฐฯ และประเทศลุ่มแม่น้ำโขงยังสามารถพัฒนาไปมากกว่านี้ได้อีกมาก เพื่อเพิ่มความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นที่ต้องการมากขึ้นทั่วโลก และทั้งสหรัฐฯ และไทยควรใช้ประโยชน์จากชุมชนองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ และองค์กรสิ่งแวดล้อมที่เธอมองว่า มีความเข้มแข็งที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บนแผ่นดินใหญ่

ทางด้านพันเอกแลร์รี เรดมอน (Larry Redmon) อดีตผู้ช่วยทูตทหารสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ไทยมีความสำคัญในแง่ของการรักษาความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งในด้านการเป็นสถานที่จัดการฝึกซ้อมรบร่วมคอบร้า โกลด์ ไทยยังเป็นประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศแรกที่ส่งกองกำลังเข้าอบรมที่ศูนย์ฝึกความพร้อมร่วม (Joint Readiness Training Center) ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกระดับโลกในรัฐแคลิฟอร์เนีย

“ผมเห็นว่า ในการที่เรามองไปในศตวรรษที่ 21 นี้ สิ่งที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งที่เราได้ คือการสนับสนุนโครงการ (ความมั่นคงระหว่างไทย-สหรัฐฯ) พันเอกเรดมอนกล่าว “เพราะหากเราต้องการให้ไทยเป็นหุ้นส่วนทางการค้าและพันธมิตร เราจะต้องช่วยให้ไทยพัฒนากองกำลังให้มีความทันสมัยและสามารถสร้างรายได้…อุตสาหกรรมความมั่นคงในไทยนั้นเล็กมาก และยังต้องพึ่งพายุทโธปกรณ์จากประเทศอื่น ๆ และหากเราต้องการให้ไทยสามารถพึ่งพาตนเอง เราสามารถช่วยในด้านอุตสาหกรรมความมั่นคง (ของไทย) ได้”

ทางด้าน ผศ.ดร.พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นในด้านความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างไทย-สหรัฐฯ ว่า สหรัฐฯ มีผลประโยชน์ร่วมด้านการรักษาสันติภาพและความมั่นคงกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเมื่อปีที่แล้ว มีการการหารือยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศระหว่างสหรัฐฯ กับไทย (US -Thailand Strategic and Defense Dialogue) ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่การหารือประเด็นร่วม โดยเฉพาะประเด็นความมั่นคงแบบใหม่ การรับมือภัยก่อการร้าย ความมั่นคงทางทะเล ความมั่นคงด้านไซเบอร์ รวมไปถึงความมั่นคงของมนุษย์

“อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีนแล้ว การรักษาสมดุลด้านนโยบายต่างประเทศของไทยนั้นเป็นไปได้ยากลำบากขึ้น” อาจารย์พงศ์พิสุทธิ์ กล่าว “เพราะฉะนั้น ความร่วมมือด้านความมั่นคงใด ๆ ระหว่างสหรัฐฯ และไทยไม่ควรสร้างภาพจำว่า สหรัฐฯ กำลังพยายามกดดันให้ไทยเลือกระหว่างมหาอำนาจประเทศใดประเทศหนึ่ง”

A seminar "US - Thailand relations at 190 Years: Past, Present, Future" organized by the Asia Foundation and the Royal Thai Embassy on March 20, 2023
A seminar "US - Thailand relations at 190 Years: Past, Present, Future" organized by the Asia Foundation and the Royal Thai Embassy on March 20, 2023

นักวิชาการ จากคณะรัฐศาสตร์ ผู้นี้ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเทศนั้น ยังมีหลายด้านที่มีศักยภาพเติบโตต่อไปได้อีกมาก เช่น พลังงานหมุนเวียน การค้าดิจิทัล การขนส่งและห่วงโซ่อุปทาน ที่จะช่วยเพิ่มการลงทุนของสหรัฐฯ ในไทย และทำให้ไทยเป็นอีกทางเลือกในกลุ่มประเทศหุ้นส่วนที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะการเป็นอีกทางเลือกนอกจากจีน

“ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แข็งแรงจะพัฒนาตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ และไทยในกรอบความร่วมมือมือเศรษฐกิจแปซิฟิก และยังช่วยเพิ่มโอกาสในการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (ระหว่างทั้งสองประเทศ)” เขากล่าว “อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราต้องการคือ ความต่อเนื่องและความชัดเจนของสหรัฐฯ ในการปฏิบัติตามข้อริเริ่มเหล่านี้ในระยะยาว”

อาจารย์พงศ์พิสุทธิ์ ยังกล่าวถึงประชาธิปไตยของไทย โดยยอมรับว่า ไทยมีความท้าทายในการรักษาคุณค่าทางประชาธิปไตยในระบบการเมืองและสังคม “เพราะฉะนั้น ทางหนึ่งที่จะทำได้ คือการสนับสนุนระบอบที่ทำให้ประเทศไทยไปต่อได้ ระบอบที่เคารพสิทธิมนุษยชน แลได้รับการยอมรับและเคารพจากนานาประเทศ…การยึดถือประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนจะแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีคุณค่าในฐานะหุ้นส่วนของสหรัฐฯ และยอมรับฟังข้อเสนอจากมิตรประเทศ…คุณค่านี้จะช่วยเสริมให้ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ เข้มแข็งขึ้นในระยะยาว”

อดีตทูตทหารสหรัฐฯ ชี้ พันธมิตรไทย-สหรัฐฯ ยังมองภัยคุกคามจีน ต่างกัน

เมื่อกล่าวถึงประเด็นอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคแล้ว พันเอกเรดมอน อดีตผู้ช่วยทูตทหารสหรัฐฯ ในไทย กล่าวว่า สหรัฐฯ ชัดเจนว่า สหรรัฐฯ ยอมรับอิทธิพลด้านความมั่นคงที่เพิ่มขึ้นของจีนได้ ตราบใดที่จีนมีการเปิดกว้างและโปร่งใสต่อการเพิ่มกิจกรรมทางการทหารของตน โดยปีนี้เป็นปีแรกที่จีนเข้าร่วมซ้อมรบคอบร้าโกลด์ด้วยเช่นกัน “เราพยายามเข้าใจมุมมองของไทย แต่บางครั้งเราก็ยอมรับว่า เราไม่ได้เข้าใจการมองภัยคุกคามของไทยเสียทีเดียว…ผมไม่คิดว่า กองทัพไทยจะเชื่อจริง ๆ ว่า จีนจะเป็นภัยคุกคามด้านการทหารของไทยในเวลานี้”

ทางด้านอาจารย์พงศ์พิสุทธิ์ กล่าวว่า ในประเด็นอิทธิพลระหว่างจีน-สหรัฐฯ ในภูมิภาคนั้น ไทยมีแนวโน้มตอบสนองด้วยท่าทีที่ไม่ชัดเจนไปทางใดทางหนึ่ง

“ไทยได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน เราพึ่งพาจีนในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา” เขากล่าว “บรรยากาศในขณะนี้อ่อนไหวมาก โดยการแข่งขันในขณะนี้ทำให้ผู้กำหนดนโยบายในไทยคิดว่า การเพิ่มความร่วมมือกับสหรัฐฯ อาจเท่ากับการลดความสัมพันธ์กับจีน…ผมจึงคิดว่า ไทยอาจพยายามเลี่ยงการตัดสินใจแบบเด็ดขาดเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทวีความตึงเครียดยิ่งขึ้นในประเด็นอย่างเช่น ช่องแคบไต้หวัน”

ทางด้านนายธานี ทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน กล่าวกับ วีโอเอ ว่าว่าในประเด็นนี้ว่า ไทยสามารถเป็นจุดเชื่อมและพูดคุยอย่างตรงไปตรงมากับทั้งจีนและสหรัฐฯได้

“เรามีความใกล้ชิดกับทั้งสองประเทศ เราเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ เราสามารถคุยกับทั้งจีน และสหรัฐฯได้อย่างค่อนข้างตรงไปตรงมา ในโอกาสและเวลาที่เหมาะสม ไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือว่าเราอยู่ในจุดที่เฉพาะเจาะจง เป็นจุดที่ค่อนข้างมีความสำคัญระหว่างดุลย์อำนาจระหว่างทั้งจีน และสหรัฐฯ ตรงนี้เราจึงใช้ความสัมพันธ์ที่เรามีเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการจะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยกันในประเด็นที่เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น” นายธานี กล่าวกับ วีโอเอ ไทย

FILE - An election officer counts votes at a polling station in Bangkok, Thailand, March 24, 2019.
FILE - An election officer counts votes at a polling station in Bangkok, Thailand, March 24, 2019.

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ย้ำ อยากเห็นการเลือกตั้งไทยอิสระ เป็นธรรม ทูตไทยย้ำ เลือกตั้งโปร่งใสแน่นอน

แทมมี ดักเวิร์ธ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ เชื้อสายไทย กล่าวว่า เธออยากเห็นการเลือกตั้งของไทยในเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะเป็นการเลือกตั้งครั้งที่สองหลังเกิดรัฐประหารนี้ “เป็นอิสระ เป็นธรรม วางรากฐานให้ไทยไปสู่ระบบประชาธิปไตยที่มั่นคงบนพื้นฐานของหลักนิติธรรม พลเรือนได้ถืออำนาจ และการเคาพรพต่อหลักสิทธิมนุษยชนที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล”

ขณะที่ เมลิซ่า บราวน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวเช่นกันว่า สหรัฐฯ คาดหวังว่าจะเห็นขั้นตอนการเลือกตั้งที่อิสระ ยุติธรรม มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย และโปร่งใส

ทางด้านเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ย้ำว่า การเลือกตั้งของไทยที่กำลังจะมาถึง จะเป็นไปอย่างอิสระ ยุติธรรม และโปร่งใสอย่างแน่นอน “ผมจัดการเลือกตั้งในต่างประเทศมาแล้วหลายครั้ง ข้อมูลทุกอย่างมีบันทึกบนกระดาษ ไม่มีการบันทึกทางดิจิทัล ทุกอย่างสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้” เขากล่าว

นายธานีกล่าวเสริมว่า การเลือกตั้งในสหรัฐฯ ครั้งนี้จะมีความยืดหยุ่นด้วยเช่นกัน โดยทางสถานทูตมีแนวทางเบื้องต้นในการเปิดให้ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนสามารถเข้ามาเลือกตั้งด้วยตนเองที่อาคารที่ทำการสถานทูต หรือสามารถส่งบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ได้เช่นกัน

XS
SM
MD
LG