ลิ้งค์เชื่อมต่อ

แบบไหนถึงเข้าข่าย ‘ละเมิดจริยธรรม’ ของนักการเมืองสหรัฐฯ


ภาพส่วนหนึ่งของอาหารสภาคองเกรส กรุงวอชิงตัน (ที่มา:เอพี)
ภาพส่วนหนึ่งของอาหารสภาคองเกรส กรุงวอชิงตัน (ที่มา:เอพี)

เปิดบันทึกหน่วยงานตรวจสอบจริยธรรมนักการเมืองสหรัฐฯ ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา หาคำตอบ อะไรบ้างที่ถูกร้องเรียนว่า ‘เข้าข่ายผิดจริยธรรม’

กำลังเป็นประเด็นร้อนในสังคมไทย สำหรับกรณีคำพิพากษาศาลฏีกาเมื่อ 20 กันยายนที่ผ่านมา ที่เพิกถอนสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิตต่อ พรรณิการ์ วานิช อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคอนาคตใหม่ จากปมภาพถ่ายและข้อความในเฟซบุ๊กในอดีต ที่ถูกวิจารณ์ว่ามีข้อความพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์

คำพิพากษาทำให้เกิดความเห็นที่หลากหลายในพื้นที่สาธารณะ ทั้งต่อความรุนแรงของคำพิพากษา และบทบาทขององค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่สามารถชงเรื่องมาตรฐานจริยธรรมให้ศาลพิจารณา จนอาจกลายเป็น “การประหารชีวิตทางการเมือง”

แม้จะตกเป็นประเด็นในการวิพากษ์วิจารณ์ แต่คำว่า ‘จริยธรรม’ ถูกใช้เป็นบรรทัดฐานในการกำกับดูแลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงสหรัฐฯ ด้วย เพียงแต่อาจจะมีความแตกต่างในรายละเอียดและเงื่อนไข

วีโอเอไทยค้นหารายงานจากสำนักงานจริยธรรมสภาคองเกรส (Office of Congressional Ethics - OCE) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบข้อกล่าวหาด้านจริยธรรมของ ส.ส. และเจ้าหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร และพบว่า ข้อมูลล่าสุด นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2023 ย้อนหลังไปเป็นเวลาหนึ่งปี มีผู้แทนราษฎรถูกตรวจสอบทั้งสิ้น 10 ราย

วีโอเอไทยหยิบข้อมูลมาสรุป แบ่งตามมติของคณะกรรมการฯ เพื่อหาคำตอบว่า หนึ่งปีที่ผ่านมา นักการเมืองสหรัฐฯ ถูกกล่าวหาว่าอาจผิดจริยธรรมในประเด็นอะไรบ้าง

ถูกลงมติว่ามีความผิด 1 ราย

นักการเมืองสหรัฐฯ ที่ถูกกล่าวหาว่าผิดจริยธรรม
นักการเมืองสหรัฐฯ ที่ถูกกล่าวหาว่าผิดจริยธรรม

ไมเคิล ซาน นิโคลัส ผู้แทนในสภาจากเกาะกวม ซึ่งเป็นดินแดนในการปกครองของสหรัฐฯ ในทะเลแปซิฟิก ถูกกล่าวหาว่ารับเงินบริจาคเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และปกปิด หรือให้ข้อมูลเท็จกับกรรมการการเลือกตั้ง

ในเดือนมิถุนายน 2020 คณะกรรมการของ OCE ระบุว่า มีหลักฐานที่เพียงพอว่านิโคลัสได้ฝ่าฝืนจริยธรรมตามที่ถูกกล่าวหา และมีมติส่งต่อเรื่องดังกล่าวให้กับกระทรวงยุติธรรม เพื่อดำเนินการต่อในทางคดี

อยู่ระหว่างพิจารณา 5 ราย

นักการเมืองสหรัฐฯ ที่ถูกกล่าวหาว่าผิดจริยธรรม
นักการเมืองสหรัฐฯ ที่ถูกกล่าวหาว่าผิดจริยธรรม

ตั้งแต่ปี 2022 อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เตส, ไค คาฮีลี, แคโรลีน มาโลนี, รอนนี แจคสัน และอเล็กซ์ มูนีย์ ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายผิดจริยธรรมในต่างกรรมและต่างวาระ

ประเด็นที่ถูกร้องเรียน มีทั้งการรับผลประโยชน์เกินฐานานุรูป เช่น ของขวัญ หรือการให้บริการต่าง ๆ ใช้ทรัพยากรรัฐเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง รับเงินบริจาคเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แจ้งข้อมูลเท็จ หรือปิดบังข้อมูลต่อกรรมการการเลือกตั้ง นำเงินสำหรับการรณรงค์หาเสียงมาใช้ในกิจการส่วนตัว

ข้อมูลจาก OCE ระบุว่า คณะกรรมการยังคงรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมในการพิจารณาต่อไป

ไม่มีความผิด 4 ราย

นักการเมืองสหรัฐฯ ที่ถูกกล่าวหาว่าผิดจริยธรรม
นักการเมืองสหรัฐฯ ที่ถูกกล่าวหาว่าผิดจริยธรรม

โธมัส ซูออสซี, คริส เจคอบส์, แพท ฟาลลอน และจอห์น รัทเธอร์ฟอร์ด ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายผิดจริยธรรม จากการไม่ส่งรายงานการทำธุรกรรมตรงเวลาในช่วงที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต่อมา คณะกรรมการมีมติว่า ไม่มีหลักฐานเพียงพอว่าทั้งสามมีเจตนาในการกระทำดังกล่าว และให้ผู้ถูกกล่าวหาเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น และปฏิบัติตามระเบียบด้านการเปิดเผยทางการเงิน

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงจำนวน ส.ส. ที่ถูกพิจารณาในกรอบเวลาหนึ่งปีเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภา และยังมีกระบวนการถอดถอนออกจากตำแหน่ง (impeachment) ที่จะต้องอาศัยการลงคะแนนเสียงและไต่สวนในสภาคองเกรสแยกออกมาต่างหาก และมีข้อมูลรายงานที่เปิดเผยต่อสาธารณะอีกด้วย

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG