การที่หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐต้องปิดทำการอยู่ในขณะนี้ เป็นปัญหาที่เกิดจากการแบ่งขั้วทางการเมืองระหว่างพรรครีพับลิกันกับพรรคเดโมแครตซึ่งสะสมต่อเนื่องมานานนับสิบปี จนกลายเป็นความขัดแย้งทางแนวคิดเกี่ยวกับบทบาทของรัฐบาลกลางที่มีต่อวิถีชีวิตของคนอเมริกัน
นักวิเคราะห์การเมืองอเมริกันบางคนระบุว่าวิกฤติทางการเมืองในสหรัฐขณะนี้เป็นปัญหาที่สะสมมานานอย่างน้อย 20 ปี เริ่มตั้งแต่ช่วงที่ปธน.Bill Clinton เข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ ต่อมาพรรครีพับลิกันได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งกลางเทอมเมื่อปี ค.ศ 1994 ได้ครองทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี ซึ่งความขัดแย้งเกี่ยวกับงบประมาณการใช้จ่ายและบทบาทของรัฐบาลกลาง ได้ทำให้หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐต้องปิดทำการไปถึง 2 ครั้งในช่วง 8 ปีที่ปธน. Bill Clinton อยู่ในตำแหน่ง ต่อมาในสมัยปธน.George W. Bush การแบ่งขั้วการเมืองยิ่งรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในช่วงสมัยที่ 2 ของ ปธน.Bush
คุณ Larry Sabato แห่ง University of Virginia ระบุว่าความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างทั้งสองพรรคเกี่ยวกับเรื่องการทำสงครามในอิรักและการรับมือกับผู้ประสบภัยพายุเฮอริเคนคาทริน่า ได้ทำให้ความแตกแยกมีมากขึ้น และพอมาถึงสมัย ปธน.Obama ความแตกต่างระหว่างพรรคเดโมแครตกับพรรครีพับลิกันก็ยิ่งกว้างขึ้นอีก เมื่อปธน.Obama พยายามผลักดันกฎหมายปฏิรูประบบประกันสุขภาพที่เรียกกันว่า Obamacare ในปี ค.ศ 2010 โดยที่ไม่มีสมาชิกพรรครีพับลิกันออกเสียงสนับสนุนแม้แต่คนเดียว จึงเป็นเหตุผลสำคัญให้กลุ่มอนุรักษ์นิยมแนวขวาจัดของพรรครีพับลิกันหรือที่เรียกว่ากลุ่ม Tea Party เติบโตขึ้นจนกลายเป็นกลุ่มที่ทรงอิทธิพลกลุ่มหนึ่งในพรรค โดยมีเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งคือการยกเลิกกฎหมาย Obamacare ที่ถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญของรัฐบาลปธน.Obama
คุณ Peter Brown นักวิเคราะห์ของมหาวิทยาลัย Quinnipiac ระบุว่าหัวใจของข้อพิพาทในเรื่อง Obamacare อยู่ที่แนวคิดที่แตกต่างกันของทั้งสองพรรคในเรื่องบทบาทของรัฐบาลกลาง เนื่องจากพรรครีพับลิกันต้องการให้รัฐบาลมีขนาดเล็กลง มีงบประมาณน้อยลง ดังนั้นจึงต่อต้านกม. Obamacare อย่างแข็งขัน ส่วนพรรคเดโมแครตที่สนับสนุนให้รัฐบาลเข้ามาจัดการในเรื่องสวัสดิการต่างๆมากกว่า เชื่อว่า Obamacare คือคำตอบของปัญหาขาดแคลนประกันสุขภาพในอเมริกา
คุณ Larry Sabato แห่ง University of Virginia เชื่อว่าเวลานี้สมาชิกพรรครีพับลิกันในสภาล่างโดยเฉพาะกลุ่มขวาจัดที่อาศัยฐานเสียงจากกลุ่ม Tea Party ยินดีรับเสียงก่นด่าจากประชาชน แลกกับการยกเลิกกม. Obamacare ให้ได้ โดยส่วนใหญ่ของสมาชิกพรรครีพับลิกันที่ต่อต้าน Obamacare อย่างหัวชนฝา ต่างอยู่ในเขตเลือกตั้งที่ประชากรส่วนใหญ่สนับสนุนแนวทางอนุรักษ์นิยมของพรรครีพับลิกันอยู่แล้ว จึงแทบไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามานั่งในสภาในสมัยต่อไป
ขณะเดียวกัน คุณ Charlie Cook นักวิเคราะห์อีกผู้หนึ่ง เชื่อว่ามีสมาชิกพรรครีพับลิกันอีกกลุ่มหนึ่งที่มีทัศนคติต่อต้านเกลียดชังปธน.Obama โดยตรง ดังนั้นไม่ว่าปธน.Obama จะมีความเห็นอย่างไร สมาชิกพรรครีพับลิกันกลุ่มนี้จะคัดค้านไปเสียทุกเรื่อง
บรรดานักวิเคราะห์ทั้งหลายต่างมีความเห็นตรงกันว่า การที่ทั้งสองพรรคมีความแตกต่างกันอย่างสุดขั้วเช่นนี้ จะทำให้การแก้ปัญหาหน่วยงานรัฐบาลปิดทำการครั้งนี้คงไม่ใช่เรื่องง่าย และเพิ่มความเสี่ยงที่รัฐบาลจะผิดนัดชำระหนี้ในอีกไม่นานนี้ ซึ่งนั่นจะส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจและภาพพจน์ของประเทศ
ครั้งสุดท้ายที่รัฐบาลสหรัฐต้องปิดทำการนั้นเกิดขึ้นเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ซึ่งกินเวลาทั้งหมดราว 3 สัปดาห์ และในที่สุดพรรครีพับลิกันเองที่เป็นฝ่ายต้องชดใช้ด้วยการพ่ายแพ้การเลือกตั้งปธน.ในปีต่อมา แต่สำหรับการปิดหน่วยงานรัฐบาลในครั้งนี้ จะยาวนานแค่ไหน และจะจบลงเช่นไร คงต้องจับตาดูกันต่อไป
รายงานจาก Jim Malone / เรียบเรียงโดย ทรงพจน์ สุภาผล
นักวิเคราะห์การเมืองอเมริกันบางคนระบุว่าวิกฤติทางการเมืองในสหรัฐขณะนี้เป็นปัญหาที่สะสมมานานอย่างน้อย 20 ปี เริ่มตั้งแต่ช่วงที่ปธน.Bill Clinton เข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ ต่อมาพรรครีพับลิกันได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งกลางเทอมเมื่อปี ค.ศ 1994 ได้ครองทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี ซึ่งความขัดแย้งเกี่ยวกับงบประมาณการใช้จ่ายและบทบาทของรัฐบาลกลาง ได้ทำให้หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐต้องปิดทำการไปถึง 2 ครั้งในช่วง 8 ปีที่ปธน. Bill Clinton อยู่ในตำแหน่ง ต่อมาในสมัยปธน.George W. Bush การแบ่งขั้วการเมืองยิ่งรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในช่วงสมัยที่ 2 ของ ปธน.Bush
คุณ Larry Sabato แห่ง University of Virginia ระบุว่าความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างทั้งสองพรรคเกี่ยวกับเรื่องการทำสงครามในอิรักและการรับมือกับผู้ประสบภัยพายุเฮอริเคนคาทริน่า ได้ทำให้ความแตกแยกมีมากขึ้น และพอมาถึงสมัย ปธน.Obama ความแตกต่างระหว่างพรรคเดโมแครตกับพรรครีพับลิกันก็ยิ่งกว้างขึ้นอีก เมื่อปธน.Obama พยายามผลักดันกฎหมายปฏิรูประบบประกันสุขภาพที่เรียกกันว่า Obamacare ในปี ค.ศ 2010 โดยที่ไม่มีสมาชิกพรรครีพับลิกันออกเสียงสนับสนุนแม้แต่คนเดียว จึงเป็นเหตุผลสำคัญให้กลุ่มอนุรักษ์นิยมแนวขวาจัดของพรรครีพับลิกันหรือที่เรียกว่ากลุ่ม Tea Party เติบโตขึ้นจนกลายเป็นกลุ่มที่ทรงอิทธิพลกลุ่มหนึ่งในพรรค โดยมีเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งคือการยกเลิกกฎหมาย Obamacare ที่ถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญของรัฐบาลปธน.Obama
คุณ Peter Brown นักวิเคราะห์ของมหาวิทยาลัย Quinnipiac ระบุว่าหัวใจของข้อพิพาทในเรื่อง Obamacare อยู่ที่แนวคิดที่แตกต่างกันของทั้งสองพรรคในเรื่องบทบาทของรัฐบาลกลาง เนื่องจากพรรครีพับลิกันต้องการให้รัฐบาลมีขนาดเล็กลง มีงบประมาณน้อยลง ดังนั้นจึงต่อต้านกม. Obamacare อย่างแข็งขัน ส่วนพรรคเดโมแครตที่สนับสนุนให้รัฐบาลเข้ามาจัดการในเรื่องสวัสดิการต่างๆมากกว่า เชื่อว่า Obamacare คือคำตอบของปัญหาขาดแคลนประกันสุขภาพในอเมริกา
คุณ Larry Sabato แห่ง University of Virginia เชื่อว่าเวลานี้สมาชิกพรรครีพับลิกันในสภาล่างโดยเฉพาะกลุ่มขวาจัดที่อาศัยฐานเสียงจากกลุ่ม Tea Party ยินดีรับเสียงก่นด่าจากประชาชน แลกกับการยกเลิกกม. Obamacare ให้ได้ โดยส่วนใหญ่ของสมาชิกพรรครีพับลิกันที่ต่อต้าน Obamacare อย่างหัวชนฝา ต่างอยู่ในเขตเลือกตั้งที่ประชากรส่วนใหญ่สนับสนุนแนวทางอนุรักษ์นิยมของพรรครีพับลิกันอยู่แล้ว จึงแทบไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามานั่งในสภาในสมัยต่อไป
ขณะเดียวกัน คุณ Charlie Cook นักวิเคราะห์อีกผู้หนึ่ง เชื่อว่ามีสมาชิกพรรครีพับลิกันอีกกลุ่มหนึ่งที่มีทัศนคติต่อต้านเกลียดชังปธน.Obama โดยตรง ดังนั้นไม่ว่าปธน.Obama จะมีความเห็นอย่างไร สมาชิกพรรครีพับลิกันกลุ่มนี้จะคัดค้านไปเสียทุกเรื่อง
บรรดานักวิเคราะห์ทั้งหลายต่างมีความเห็นตรงกันว่า การที่ทั้งสองพรรคมีความแตกต่างกันอย่างสุดขั้วเช่นนี้ จะทำให้การแก้ปัญหาหน่วยงานรัฐบาลปิดทำการครั้งนี้คงไม่ใช่เรื่องง่าย และเพิ่มความเสี่ยงที่รัฐบาลจะผิดนัดชำระหนี้ในอีกไม่นานนี้ ซึ่งนั่นจะส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจและภาพพจน์ของประเทศ
ครั้งสุดท้ายที่รัฐบาลสหรัฐต้องปิดทำการนั้นเกิดขึ้นเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ซึ่งกินเวลาทั้งหมดราว 3 สัปดาห์ และในที่สุดพรรครีพับลิกันเองที่เป็นฝ่ายต้องชดใช้ด้วยการพ่ายแพ้การเลือกตั้งปธน.ในปีต่อมา แต่สำหรับการปิดหน่วยงานรัฐบาลในครั้งนี้ จะยาวนานแค่ไหน และจะจบลงเช่นไร คงต้องจับตาดูกันต่อไป
รายงานจาก Jim Malone / เรียบเรียงโดย ทรงพจน์ สุภาผล