กระบวนการลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือชะงักงันมานานหลายเดือน โดยไม่มีสัญญาณแสดงถึงความคืบหน้าใดๆ ถึงแม้รองประธานาธิบดี Mike Pence ของสหรัฐฯ จะกล่าวเมื่อไม่กี่วันที่แล้วว่าขณะนี้สหรัฐฯ กำลังรอให้เกาหลีเหนือปฏิบัติตามความผูกพันเรื่องการลดอาวุธนิวเคลียร์ก็ตาม
แต่นาย Rodger Baker รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ของบริษัท Stratfor ไม่เชื่อว่าเรื่องนี้ได้เกิดขึ้น และว่าขณะนี้ดูเหมือนว่าเกาหลีเหนือจะเป็นฝ่ายที่ควบคุมและขับเคลื่อนข้อเสนอเรื่องการประชุมสุดยอดครั้งที่สองมากกว่าสหรัฐฯ
โดยหากพิจารณาจากคำปราศรัยในโอกาสขึ้นปีใหม่ของนายคิม จอง อึน ก็จะเห็นได้ว่า เกาหลีเหนือต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในพฤติกรรมของสหรัฐฯ หรือมิฉะนั้นเปียงยางก็อาจกลับไปเริ่มแผนการทดลองอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้ง
นาย Rodger Baker ยังชี้ด้วยว่า ผู้นำเกาหลีเหนือได้ติดต่อกับจีนเพื่อให้แน่ใจว่าตนได้รับความสนับสนุนจากกรุงปักกิ่ง ก่อนที่จะส่งตัวแทนเดินทางไปกรุงวอชิงตันเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว
โดยเมื่อวันศุกร์ ประธานาธิบดีทรัมป์พบกับนายคิม ยอง โชล ตัวแทนของเกาหลีเหนือที่ทำเนียบขาวราว 2 ชั่วโมง และประกาศว่า สหรัฐฯ ได้ดำเนินงานคืบหน้าหลายอย่างเกี่ยวกับเกาหลีเหนือซึ่งสื่อมวลชนไม่ได้นำมารายงาน อย่างไรก็ตาม ทั้งประธานาธิบดีทรัมป์และทำเนียบขาวไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดใดๆ ที่ช่วยสนับสนุนคำกล่าวอ้างเรื่องนี้ได้
ทางด้านนาย Harry Kazianis ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษากิจการกลาโหมที่ศูนย์ Center for the National Interest ก็มองว่า ในขณะนี้ทั้งสองฝ่ายอาจตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมเรื่องการเจรจาเพื่อลดอาวุธนิวเคลียร์
และว่าเรื่องสำคัญที่สุดขณะนี้คือทั้งสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือจะต้องพยายามทำข้อตกลงชั่วคราวที่ดูเหมือนว่าทั้งสองฝ่ายต่างเป็นผู้ชนะ
นาย Harry Kazianis นักวิเคราะห์กิจการต่างประเทศผู้นี้ ยังชี้ว่ามาตรการหนึ่งซึ่งสหรัฐฯ อาจเสนอให้กับเกาหลีเหนือได้ คือการประกาศกระบวนการจัดทำสนธิสัญญาสันติภาพเพื่อยุติสงครามเกาหลีเหนือเมื่อราว 60 ปีที่แล้วอย่างเป็นทางการ
แต่สำหรับเรื่องนี้นาย Rodger Baker จากบริษัท Stratfor กลับมองว่ายังไม่เพียงพอสำหรับเปียงยาง โดยให้เหตุผลว่าขณะนี้สหรัฐฯ ได้ประกาศแล้วว่าไม่มีเจตนาจะเป็นฝ่ายโจมตีเกาหลีเหนือก่อน
นอกจากนั้นนาย Harry Kazianis ยังเสนอว่า ประเด็นสำคัญที่สุดที่เปียงยางเป็นกังวลและพูดถึงอยู่เสมอ คือเรื่องกำลังอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ และว่าหากวอชิงตันตัดสินใจถอนอาวุธนิวเคลียร์บางส่วนออกจากคาบสมุทรเกาหลี ก็จะเป็นแรงจูงใจช่วยให้เกาหลีเหนือเริ่มกระบวนการลดอาวุธนิวเคลียร์ได้เช่นกัน
ในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรการลงโทษเกาหลีเหนือนั้น นักวิเคราะห์ทั้งสองเห็นว่าเปียงยางต้องการให้มีการผ่อนคลายมาตรการเหล่านี้ลง อย่างไรก็ตาม มาตรการลงโทษที่ใช้กับเกาหลีเหนือขณะนี้มาจากสองด้าน คือทั้งจากองค์การสหประชาชาติและสหรัฐฯ
โดยขณะที่มาตรการลงโทษของสหประชาชาติมุ่งเน้นเรื่องการจำกัดด้านการค้าเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของรัฐบาลกรุงเปียงยาง และอาจง่ายกว่าที่จะเจรจาต่อรองนั้น มาตรการลงโทษโดยรัฐบาลสหรัฐฯ จะมีปัญหายากลำบากกว่าในการยกเลิก เพราะไม่ได้เพียงมุ่งเป้าที่โครงการจรวดขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ของเปียงยางเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับกฎหมายต่างๆ ของสหรัฐฯ ที่มุ่งลงโทษเกาหลีเหนือในเรื่องสิทธิมนุษยชนและการละเมิดกฎหมายอื่นๆ เช่น การฟอกเงิน การพิมพ์ธนบัตรปลอม และการสนับสนุนการก่อการร้ายโดยรัฐบาลกรุงเปียงยาง เป็นต้น
ท้ายที่สุด นักวิเคราะห์ทั้งสองเห็นว่าการประชุมสุดยอดครั้งที่สองระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือ ยังเต็มไปด้วยความไม่ชัดเจน และมีคำถามมากกว่าคำตอบในขณะนี้
และทั้งวอชิงตันกับเปียงยางก็ยังไม่ได้ประกาศสถานที่สำหรับจัดการประชุม แต่ก็มีการคาดการณ์ว่าการพบปะครั้งที่สองระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์ กับนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือนั้น อาจจะมีขึ้นในประเทศเวียดนาม