รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ นาง Hillary Clinton เดินทางเข้าร่วมการประชุมด้านความมั่นคงของสมาคมอาเซียนที่เกาะบาหลีเมื่อเร็วๆนี้ และได้กล่าวเน้นย้ำว่าสหรัฐยังคงตั้งใจเข้ามามีส่วนร่วมทั้งในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองในอาเซียน ซึ่งรวมถึงการให้ทุนสนับสนุนโครงการพัฒนาลุ่มน้ำโขงตอนล่างมูลค่า 221 ล้านดอลล่าร์ โดยเงินทุนดังกล่าวจะใช้ไปในโครงการด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม สุขภาพและโครงสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ในกัมพูชา ลาว เวียดนามและไทย
ฑูตสหรัฐประจำอาเซียน นาย David Carden กล่าวว่าสหรัฐเป็นกังวลต่อผลกระทบของโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่งกั้นแม่น้ำโขงในจีน ลาวและกัมพูชา หลังจากบรรดากลุ่มรณณงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเตือนว่าเขื่อนเหล่านั้นอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อเส้นทางน้ำสำคัญๆในแถบนี้ และอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจของประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง
ฑูตสหรัฐประจำอาเซียนระบุว่าไม่ใช่แค่อาเซียนเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ แต่ยังหมายถึงผลประโยชน์ของทั่วโลกทั้งในด้านอาหาร สิ่งแวดล้อม สันติภาพและความมั่นคง ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือการตรวจสอบผลกระทบด้านต่างๆให้ถี่ถ้วนด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่างอย่างชาญฉลาดและยั่งยืน
ปัจจุบันคาดว่ามีประชากรอาศัยในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่างมากกว่า 60 ล้านคนในอาณาบริเวณกว้างใหญ่มากกว่า 6 แสนตารางกิโลเมตร พื้นที่แถบนี้คือแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ชาวนาจำนวนมากอาศัยน้ำและดินตะกอนในแม่น้ำโขงในการปลูกข้าว
ฑูตสหรัฐประจำอาเซียน David Carden กล่าวว่าความช่วยเหลือจากสหรัฐในด้านเงินทุนพัฒนาโครงการต่างๆแถบลุ่มน้ำโขงนั้น มีเป้าหมายเพื่อสร้างสันติภาพและความมั่นคงในอาเซียน ตลอดจนลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ แต่นาย Milton Osborne นักวิเคราะห์ด้านเอเซียตะวันออกเฉียงใต้แห่งสถาบันนโยบายต่างประเทศ Lowy ในออสเตรเลียชี้ว่า การที่สหรัฐพยายามเข้ามามีส่วนร่วมในเอเซียมีแรงจูงใจและเป้าหมายเพื่อคานอำนาจทางเศรษฐกิจของจีน
นักวิเคราะห์ผู้นี้ยังบอกด้วยว่าโครงการของสหรัฐเพื่อช่วยเหลือประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างนั้น แสดงให้เห็นชัดเจนว่าสหรัฐจะยังคงมีผลประโยชน์ต่อไปในพื้นที่แถบนี้ และว่าเงินช่วยเหลือดังกล่าวมิได้ทำให้สหรัฐสามารถเข้ามาเจรจาเรื่องการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงได้โดยตรง แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าสหรัฐจะยังคงมีบทบาทสำคัญต่อเอเซียต่อไปในอนาคต