ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สื่อเสรี ยังมีจริงหรือไม่? หลังทุนใหญ่อเมริกาเดินหน้าซื้อควบรวมกิจการ 


FILE - Some front pages and section fronts of the Orange County Register are seen in the newsroom in Santa Ana, Calif., Dec. 27, 2012.
FILE - Some front pages and section fronts of the Orange County Register are seen in the newsroom in Santa Ana, Calif., Dec. 27, 2012.
please wait

No media source currently available

0:00 0:05:31 0:00

ทุกวันนี้อาจจะดูเหมือนว่าชาวอเมริกันมีทางเลือกมากมายในการติดตามข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นทางหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือทางเว็บไซต์ พอดคาสท์ เคเบิ้ลทีวี แต่เมื่อมองลึกลงไป ความจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะสื่อมวลชน โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น ได้ตกอยู่ในการควบคุมของบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่กี่บริษัท

การเข้ามากวาดซื้อและยุบรวมหนังสือพิมพ์และสถานีข่าวขนาดเล็ก โดยบริษัทใหญ่ ๆ ไม่กี่บริษัท กลายเป็นแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงในสหรัฐฯ โดยเห็นได้ชัดที่สุดในวงการหนังสือพิมพ์

ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา ชี้ให้เห็นว่า หนึ่งในห้าของจำนวนหนังสือพิมพ์ที่เคยมีอยู่ในสหรัฐฯ เมื่อ 15 ปีก่อน ได้ถูกปิดไปแล้ว ทำให้หลายร้อยชุมชนไม่มีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ศูนย์ Pew Research Center ยังรายงานด้วยว่า การจ้างงานนักข่าวยังลดลงถึงร้อยละ 47 ถ้าเทียบกับ 15 ปีก่อน

ในขณะเดียวกัน บริษัทสื่อขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ อย่าง GateHouse Media และ Gannett เข้าควบคุมหลายร้อยสื่อสิ่งพิมพ์ โดยหันมาเน้นการทำข่าวจากส่วนกลางมากขึ้น และลดความสำคัญของข่าวในท้องถิ่นลง

เมื่อเดือนสิงหาคม GateHouse Media และ Gannett ประกาศว่าทั้งสองจะควบรวมบริษัทกัน ซึ่งจะทำให้บริษัทใหม่ที่จะเกิดขึ้นเข้าควบคุมหนังสือพิมพ์รายวันมากกว่า 250 หัว ตลอดจน หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์และสื่อท้องถิ่นอีกหลายร้อยสื่อ

ส่วน Digital First หรือที่รู้จักกันในชื่อ MediaNews Group ก็เป็นอีกหนึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่เป็นผู้นำเทรนด์ที่น่าเป็นห่วง นั่นคือ การกวาดซื้อหนังสือพิมพ์ ไล่นักข่าวออก และนำอสังหาริมทรัพย์ของสำนักข่าวออกขายทอดตลาด ซึ่ง Digital First เคยบอกหนังสือพิมพ์ Washington Post ว่า เป้าหมายของบริษัทคือการทำให้สื่อสิ่งพิมพ์มีผลกำไรและสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน

โดยปกติแล้ว หนังสือพิมพ์ไม่ใช่ธุรกิจทำเงิน หนังสือพิมพ์หลายหัวในสหรัฐฯ มักจะเป็นของมูลนิธิครอบครัวที่ร่ำรวยหรือองค์กรที่ให้ความสำคัญกับภารกิจต่อสังคมมากกว่าผลกำไร

ลดพนักงาน ตักตวงผลกำไรระยะสั้น

มาร์กาเร็ต ซัลลิแวน นักเขียนคอลัมน์เกี่ยวกับสื่อมวลชนของ หนังสือพิมพ์ Washington Post กล่าวว่า บริษัทที่เข้ามากวาดซื้อหนังสือพิมพ์ในลักษณะนี้ มักจะเป็นบริษัทของนักลงทุนเอกชน กองทุนความเสี่ยงสูง หรือ เฮดจ์ ฟันด์ ซึ่งบริษัทเหล่านี้ไม่ได้สนใจเรื่องคุณภาพของสื่อมวลชน แต่ต้องการเข้ามาทำกำไรระยะสั้น ให้มากและเร็วที่สุด จากสินทรัพย์ของสำนักข่าวเหล่านี้

ซึ่งซัลลิแวนมองว่านอกจากจะสร้างความเสียหายให้กับการสื่อสารมวลชน ยังไม่ดีต่อนักข่าวด้วย เพราะหนึ่งในการหากำไรระยะสั้น คือการลดพนักงานลงเรื่อย ๆ และหั่นงบประมาณ ที่ส่งผลให้กระบวนการทำข่าวได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ในโลกของการทำข่าวโทรทัศน์ก็ไม่ต่างกัน มีสถานีโทรทัศน์เกือบ 200 สถานี ที่สามารถเข้าถึงคนอเมริกันได้ถึงร้อยละ 40 ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ บริษัท Sinclair Broadcast Group ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า มีการบังคับให้สถานีโทรทัศน์เผยแพร่ข่าวสารและเนื้อหาที่มีความเป็นการเมืองแบบอนุรักษ์นิยม และยังกำหนดให้แต่ละสถานีเผยแพร่ความคิดเห็นของ บอริส เอปสไตน์ (Boris Epshteyn) เพื่อนของครอบครัวประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และอดีตที่ปรึกษาทางการเมืองของทรัมป์อีกด้วย

การต่อต้านการผูกขาดที่อ่อนกำลง

นอกจากนี้ กฎหมายในสหรัฐฯ ที่เคยจำกัดไม่ให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งถือหุ้นใหญ่ของหลายสื่อในตลาดเดียวกัน ยังถูกแก้ไขให้เคร่งครัดน้อยลง เปิดทางให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งสามารถเข้าครอบงำแวดวงสื่อมวลชนทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ได้ ซึ่งองค์กรที่รณรงค์ให้มีการกระจายอำนาจของสื่อมวลชนมองว่า เป็นการทำให้สื่อที่เคยมีความหลากหลาย สะท้อนเสียงของชุมชนหายไป และตกอยู่ในอุ้งมือของบริษัทใหญ่ไม่กี่บริษัท

สิ่งที่เกิดขึ้น มีผลกระทบโดยตรงต่อการเมืองของคนอเมริกันด้วย มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุว่าการขาดหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ทำให้คนมีส่วนร่วมทางการเมืองน้อยลง และเกิดความแตกแยกมากขึ้น

ยุคของข่าวทางโซเชียลมีเดีย

นักเขียนคอลัมน์เกี่ยวกับสื่อมวลชนบอกว่าคนจึงหันไปเสพข่าวจากช่องทางโซเชียลมีเดียที่มีความเป็นกลางน้อยกว่า เช่น เฟสบุ้ค หรือข่าวจากเคเบิ้ลทีวีที่เลือกข้างทางการเมือง

การหาหนทางแก้นั้นไม่ง่าย บ้างบอกว่า การเติบโตขององค์กรข่าวที่ไม่มุ่งหวังผลกำไร เป็นทางเลือกหนึ่งในยุคที่สื่อถูกบริษัททุนเข้าควบคุม ซึ่งบางองค์กรให้เงินทุนแก่นักข่าวที่เข้าไปทำงานในสื่อท้องถิ่น เป็นต้น

แต่แนวทางดังกล่าว ไม่สามารถอุดรูรั่วได้หมด ที่ผ่านมา จึงมีการพยายามผลักดันให้มีการแก้กฎหมายให้เข้มงวดกับการเข้าซื้อควบรวมสื่ออีกครั้ง และให้มีการให้เงินช่วยเหลือ หรือการลดหย่อนภาษีเพื่อสนับสนุนสำนักข่าวท้องถิ่นอีกด้วย

นักรณรงค์เหล่านี้มองว่า หากสื่อมวลชนท้องถิ่นจำเป็นต่อการดำรงไว้ของประชาธิปไตย ก็ต้องมีนโยบายที่ส่งเสริมสนับสนุนสื่อท้องถิ่นด้วย

โธมัส เจฟเฟอร์สัน อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เคยมีคำกล่าวที่พอจะสรุปได้ว่า สื่อเสรีที่ปราศจากการเข้าแทรกแทรงของรัฐบาลนั้นเป็นสิ่งสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตย แต่เสรีภาพของสื่อจะไม่มีประโยชน์ หากไม่มีสื่อที่คอยรายงานปัญหาหรือเรื่องราวที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในแต่ละชุมชน และผู้คนไม่สามารถเลือกสื่อได้อย่างเสรี

XS
SM
MD
LG