ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สหรัฐฯ-อังกฤษ-อียู ประกาศใช้มาตรการลงโทษ ‘ปูติน’-’ลาฟรอฟ’


Russian President Vladimir Putin, center, and Russian Foreign Minister Sergei Lavrov attend a ceremony to receive credentials from newly appointed foreign ambassadors to Russia in Kremlin, Moscow, Russia, Wednesday, July 3, 2019. (Maxim Shipenkov/Pool Photo via AP)
Russian President Vladimir Putin, center, and Russian Foreign Minister Sergei Lavrov attend a ceremony to receive credentials from newly appointed foreign ambassadors to Russia in Kremlin, Moscow, Russia, Wednesday, July 3, 2019. (Maxim Shipenkov/Pool Photo via AP)

สหรัฐฯ ประกาศในวันศุกร์ว่าจะระงับการดำเนินการด้านทรัพย์สินของประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ หลังจากที่สหภาพยุโรป และอังกฤษประกาศใช้มาตรการเดียวกันไปก่อนหน้านี้ ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกหาทางใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจที่เข้มข้นต่อรัสเซียที่ทำการบุกโจมตียูเครน

กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ประกาศว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศในสหภาพยุโรป หรืออียู ได้ประชุมที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ก่อนที่จะมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ระงับการดำเนินการด้านทรัพย์สินและบัญชีธนาคารของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซีย

รัฐบาลของอังกฤษใช้มาตรการเดียวกันในวันศุกร์ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลิซ ทรัสส์​ (Liz Truss) โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ว่า “เราจะไม่หยุดสร้างความเจ็บปวดทางเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลเครมลินจนกว่ายูเครนจะได้รับอธิปไตยกลับคืนมา”

โฆษกหญิงของกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย มาเรีย ซาคาโรวา (Maria Zakharova) กล่าวว่ามาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อประธานาธิบดีปูตินและ รมต.ต่างประเทศลาฟรอฟ แสดงให้เห็นถึง “ความไร้สมรรถภาพอย่างที่สุด” ของชาติตะวันตกในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศ ตามการรายงานของ RIA News ซึ่งเป็นสำนักข่าวของรัฐบาลรัสเซีย

สำนักข่าว AFP รายงานว่า ผู้นำประเทศนั้นแทบจะไม่เคยเป็นเป้าหมายของมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจโดยตรง ผู้นำประเทศในปัจจุบันที่ตกเป็นเป้าของการลงโทษทางเศรษฐกิจโดยสหภาพยุโรปคือ ประธานาธิบดีเบลารุส อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก และประธานาธิบดีซีเรีย บาชาร์​ อัล-อัสซาด

อย่างไรก็ตาม ผู้นำกลุ่มประเทศอียูเห็นพ้องกันว่า ยังเร็วเกินไปที่จะห้ามไม่ให้ประธานาธิบดีปูตินและ รมต.ต่างประเทศ ลาฟรอฟเดินทาง เพราะยังต้องเปิดช่องทางให้มีการเจรจาหารือกัน

ด้านนายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน ในวันศุกร์ในเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ขับรัสเซียออกจากระบบการชำระและโอนเงินระหว่างประเทศ หรือ SWIFT “เพื่อทำให้เกิดผลกระทบมากที่สุด”

ยูเครนเองได้วิ่งเต้นให้มีการตัดรัสเซียออกจากระบบ SWIFT เช่นกัน และเรียกร้องให้ยุโรปใช้มาตรการที่รุนแรงกว่านี้ต่อกรุงมอสโก อย่างไรก็ตาม บางประเทศในยุโรป เช่น เยอรมนี ยังลังเลที่จะใช้มาตรการที่รุนแรงกว่านี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี แอนนาเลนา แบร์บอค (Annalena Baerbock) กล่าวในวันศุกร์ว่า มาตรการลงโทษที่มุ่งไปที่ธุรกรรมการธนาคารที่อียูกำลังใช้อยู่นั้น จะมีผลกระทบต่อรัฐบาลของปูตินมากกว่าการตัดรัสเซียออกจากระบบการชำระเงิน SWIFT

ที่ผ่านมารัสเซียได้ออกมาตอบโต้ โดยการห้ามไม่ให้สายการบินของสหราชอาณาจักรบินเข้ามาในเขตประเทศของตน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ อังกฤษห้ามสายการบินแอโรฟลอท (Aeroflot) ของรัสเซียเช่นกัน

ที่มา: วีโอเอ, เอพี, รอยเตอร์, เอเอฟพี

XS
SM
MD
LG