ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์: สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าเดือนพย.แต่อาจเป็นสัญญาณเชิงบวกทางเศรษฐกิจ


FILE PHOTO: U.S. One dollar banknotes are seen in front of displayed stock graph in this illustration taken, February 8, 2021. REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo
FILE PHOTO: U.S. One dollar banknotes are seen in front of displayed stock graph in this illustration taken, February 8, 2021. REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo
US Economic Outlook Bright Despite Deficit
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:43 0:00

ตัวเลขทางเศรษฐกิจในช่วงต้นปี 2022 เช่น อัตราการว่างงานที่ลดลง การสร้างงานใหม่ และตัวเลขการขาดดุลการค้าซึ่งสูงเป็นอันดับสองล้วนบ่งชี้ถึงสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็งของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตามนักเศรษฐศาสตร์เตือนว่าการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนสร้างปัญหาความไม่แน่นอน และผลกระทบของเรื่องนี้อาจเห็นได้ชัดขึ้นในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์

โดยเมื่อวันพฤหัสบดีของสัปดาห์ที่แล้วในช่วงต้นเดือนมกราคมกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขการนำเข้าของเดือนพฤศจิกายน ปี 2021 ซึ่งเพิ่มขึ้น 4.6% จากของเดือนก่อนหน้าส่งผลให้ยอดขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ประจำเดือนพฤศจิกายนดังกล่าวสูงถึงกว่า 80,000 ล้านดอลลาร์ซึ่งนับว่ามากเป็นที่สองรองจากตัวเลขการขาดดุล 81,400 ล้านดอลลาร์ของเดือนกันยายน

แต่ขณะที่หลายคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์มองตัวเลขการขาดดุลการค้าจำนวนมากนี้ในแง่ลบ นักเศรษฐศาสตร์บางคน เช่น คุณ Gary Hufbauer นักวิจัยอาวุโสของสถาบัน Peterson Institute for International Economics กลับชี้ว่าตัวเลขขาดดุลการค้าซึ่งมาจากการนำเข้าดังกล่าวเป็นเครื่องแสดงว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็วกว่าประเทศอื่นๆ หลังปัญหาโรคระบาดใหญ่

คุณ Gary Hufbauer ยังอธิบายด้วยว่ามักมีความเข้าใจผิดว่าตัวเลขขาดดุลการค้าเป็นสัญญาณที่ไม่ดีเกี่ยวกับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แต่ในทางกลับกันการขาดดุลการค้ามาจากความต้องการสินค้าและการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น และเมื่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กระเตื้องขึ้นค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก็แข็งตัวทำให้ผู้บริโภคอเมริกันมีกำลังซื้อสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้นตามไปด้วย

ขณะนี้จีนเป็นประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากที่สุด ส่วนอันดับสองรองจากจีนนั้นคือสหภาพยุโรป รวมทั้งเม็กซิโก เยอรมนี และแคนาดาตามลำดับ อย่างไรก็ตามสหรัฐฯ ไม่ได้เสียเปรียบดุลการค้ากับทุกประเทศเสมอไป เพราะสหรัฐฯ ได้เปรียบดุลการค้ามูลค่า 4,500 ล้านดอลลาร์กับกลุ่มประเทศอเมริกากลางและอเมริกาใต้ รวมทั้งกับฮ่องกงและบราซิลรายละราว 1,000 ล้านดอลลาร์ด้วย

แต่นอกจากยอดขาดดุลการค้าที่สูงขึ้นซึ่งสะท้อนถึงความต้องการบริโภคและใช้สินค้าของคนอเมริกันจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวแล้ว เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก็สามารถสร้างงานใหม่ได้โดยเฉลี่ยเดือนละราว 537,000 ตำแหน่งในแต่ละเดือนของปีที่แล้วด้วย ส่วนตัวเลขการว่างงานในสหรัฐฯ ก็ลดลงจากระดับ 6.4% ในช่วงต้นปี 2021 มาอยู่ที่ 3.9% ในเดือนธันวาคมปีที่แล้วเช่นกัน

ถึงกระนั้นก็ตามแม้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะสามารถสร้างงานได้จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นไปได้ดีกว่าในส่วนอื่นของโลกแต่คนทุกกลุ่มก็ไม่ได้ประโยชน์จากการสร้างงานใหม่อย่างทัดเทียมกัน กล่าวคือในช่วงสองเดือนสุดท้ายของปีที่แล้วอัตราว่างงานของคนอเมริกันผิวดำเพิ่มขึ้นจาก 6.1% เป็น 6.5% และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่สตรีอเมริกันผิวดำนั้นอัตราว่างงานของคนกลุ่มนี้คือ 5.6% ซึ่งนับว่าสูงกว่าในกลุ่มแรงงานสตรีอเมริกันผิวขาวถึงราวหนึ่งเท่าตัว

และถึงแม้ตัวเลขดัชนีทางเศรษฐกิจต่างๆในช่วงต้นปีจะดูเป็นที่น่าพอใจ คุณ Elise Gould นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของสถาบัน Economic Policy Institute ในกรุงวอชิงตันได้ชี้ว่าปัจจัยผันแปรที่สำคัญคือการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เพราะตัวเลขทางเศรษฐกิจล่าสุดซึ่งเพิ่งเปิดเผยในช่วงต้นปียังไม่สามารถบอกเกี่ยวกับผลกระทบของเรื่องดังกล่าวต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้อย่างสมบูรณ์เนื่องจากเชื้อโอมิครอนเริ่มระบาดอย่างกว้างขวางในครึ่งหลังของเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

ดังนั้นนักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้จึงคาดว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ประจำเดือนมกราคมซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้จะสามารถบ่งชี้ถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้อย่างสำคัญโดยเฉพาะต่อตลาดแรงงาน ถึงแม้จะเป็นที่คาดหวังว่าผลกระทบดังกล่าวจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม


ที่มา: VOA

XS
SM
MD
LG