ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สิทธิความเป็นส่วนตัวทางดิจิทัลกำลังเป็นประเด็นพิจารณาในศาลสูงสุดสหรัฐฯ


FILE - A man holds up his iPhone during a rally in support of data privacy in San Francisco, Feb. 23, 2016.
FILE - A man holds up his iPhone during a rally in support of data privacy in San Francisco, Feb. 23, 2016.

ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐฯ กำลังทบทวนอำนาจของตำรวจในการดูข้อมูลในโทรศัพท์มือถือโดยไม่มีหมายค้น

ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐฯ เเสดงท่าทีเมื่อเร็วๆ นี้ว่าอาจจะออกกฏระเบียบใหม่เพื่อควบคุมอำนาจของหน่วยงานบังคับใช้กฏหมายของสหรัฐฯ ในการติดตามการเคลื่อนไหวของปัจเจกบุคคลด้วยการเข้าไปดูข้อมูลในโทรศัพท์มือถือของคนที่ตกเป็นเป้าสงสัย

การไต่สวนคำร้องในศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ครั้งนี้ อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่สำคัญในประเด็นที่ถกเถียงกันมาตลอด เกี่ยวกับการปกป้องเสรีภาพประชาชนในยุคที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ประเด็นที่ถกกันคือ ควรหรือไม่ที่ตำรวจมีอำนาจจะเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ ที่ช่วยระบุว่าผู้ใช้อยู่ที่ไหนได้โดยไม่ต้องขอหมายค้นจากศาล

การทบทวนเรื่องนี้สืบเนื่องมาจากการตัดสินให้ชายอเมริกัน นายทิโมธี คาร์เพนเตอร์ (Timothy Carpenter) มีความผิดในข้อหาการปล้นหลายครั้ง ย้อนไปในปี 2010 กับ 2011 เพราะคณะอัยการได้ข้อมูลในโทรศัพท์มือถือของนายคาร์เพนเตอร์ที่ระบุว่าเขาอยู่ที่ใดในช่วงระยะเวลาหลายเดือนที่เกิดเหตุ ข้อมูลนี้มีส่วนสำคัญที่นำไปสู่การตัดสินว่าเขามีความผิดตามข้อกล่าวหา

เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทีมทนายความของ American Civil Liberties Union หรือ ACLU ได้เเสดงข้อโต้เเย้งต่อศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ว่าควรมีข้อกำหนดว่าตำรวจจะต้องได้รับหมายค้นจากศาลเสียก่อนที่จะสามารถเข้าไปดูข้อมูลบันทึกการใช้โทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหา

ทีมทนายความดังกล่าวยังโต้เเย้งด้วยว่า การอนุญาตให้ตำรวจเข้าไปดูข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือของผู้ต้องสงสัยโดยไม่มีหมายค้น ถือว่าละเมิดสิทธิส่วนบุคคลตามที่ระบุไว้ในกฏหมายรัฐธรรมนูญ ในบทบัญญัติฉบับเเก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 4 ที่ห้ามตำรวจทำการค้นตัวเเละยึดของใช้ส่วนตัวของผู้ต้องหาอย่างไม่มีเหตุผล

เนธาน ฟรีด วีสสเล่อร์ (Nathan Freed Wessler) ทนายความของเอซีเอลยู (ACLU) กล่าวกับบรรดาผู้สื่อข่าวด้านนอกศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน หลังการไต่สวนของศาลว่า เป็นไปไม่ได้ที่ประชาชนจะใช้ชีวิตประจำวันโดยไม่ทิ้งร่องรอยของการใช้โทรศัพท์มือถือที่ชี้ว่า ณ เวลานั้นๆ คุณไปไหน ไปทำอะไรหรืออยู่กับใคร

เขากล่าวว่า ถึงเวลาเเล้วที่ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ต้องแก้ไขบทบัญญัติที่เเก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 4 ในกฏหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อปกป้องสิทธิส่วนบุคคลอย่างสมเหตุสมผลกับวิถีชีวิตยุคดิจิทัลในปัจจุบัน

ผู้พิพากษา ซอนญ่า โซโตมายอร์ (Sonia Sotomayor) ที่มักอยู่ฝ่ายเสรีนิยมในศาลสูงสุดของสหรัฐฯ กล่าวว่า ตนคิดว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ๋ต้องการหลีกเลี่ยงการถูกติดตามว่ากำลังทำอะไรหรือใช้ชีวิตอย่างไร อย่างในรายการเรียลลิตี้ Big Brother

บรรดาทนายความในกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ออกมาปกป้องกระบวนการของฝ่ายบังคับใช้กฏหมายในการเข้าถึงข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือโดยไม่ต้องมีหมายค้นจากศาล โดยให้เหตุผลว่า เเม้ว่าเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือจะเปลี่ยนแปลงไป ตำรวจจำเป็นอย่างมากที่ต้องได้รับข้อมูลส่วนตัวในโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหาอย่างรวดเร็ว

เเละทางการสหรัฐฯ ยังได้โต้เเย้งด้วยว่า สิทธิความเป็นส่วนตัวไม่เป็นประเด็นเพราะหน่วยงานบังคับใช้กฏหมายสามารถขอข้อมูลนี้ได้จากบริษัทโทรคมนาคมที่บันทึกการใช้งานของลูกค้าของบริษัท

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายหลายคนกล่าวว่า ไม่ว่าคำตัดสินของศาลสูงสุดของสหรัฐฯ จะออกมาอย่างไรก็ตาม คำตัดสินนั้นจะมีผลกระทบอย่างมากต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชนในสหรัฐฯ ในยุคดิจิทัล

ศาสตราจารย์ เดวิด อลัน สคลันสกี้ (David Alan Sklansky) อาจารย์ด้านกฏหมายเเห่งมหาวิทยาลัยสเเตนฟอร์ด กล่าวกับวีโอเอว่า เทคโนโลยีดิจิทัลในการติดตามข้อมูลเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เเละช่วยเพิ่มความสามารถแก่รัฐบาลในการทำทั้งในสิ่งที่เป็นประโยชน์เเละสิ่งชั่วร้าย เเละถือเป็นความท้าทายที่จะต้องหาทางสร้างสมดุลระหว่างอำนาจในการตรวจค้นข้อมูลส่วนตัวของประชาชนอย่างเต็มที่ โดยไม่ไปละเมิดเสรีภาพทางการเมืองเเละสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชนตามเเนวคิดประชาธิปไตย

เขาคาดว่า ประเทศอื่นๆ จะเฝ้าติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้ในสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เพราะต่างกำลังเผชิญกับความขัดเเย้งเเบบเดียวกันในประเทศตน ตนคิดว่าประชาชนในประเทศประชาธิปไตยควรใส่ใจว่า ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ จะตัดสินเรื่องนี้อย่างไร

(เรียบเรียงทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG