ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การสำรวจใต้ทะเลลึกนานาชาติพบว่าระบบนิเวศวิทยาใต้ท้องทะเลกำลังถูกคุกคาม


การสำรวจใต้ทะเลลึกนานาชาติพบว่าระบบนิเวศวิทยาใต้ท้องทะเลกำลังถูกคุกคาม
การสำรวจใต้ทะเลลึกนานาชาติพบว่าระบบนิเวศวิทยาใต้ท้องทะเลกำลังถูกคุกคาม

ทีมนักวิทยาศาสตร์เรียกร้องให้นานาชาติมีมาตรการปกป้องธรรมชาติใต้ทะเลลึกหลังจากพบว่าธรรมชาติและสัตว์ที่อาศัยใต้ทะเลลึกกำลังถูกคุกคามจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของมนุษย์อย่างฟุ่มเฟือยและภาวะโลกร้อน ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าภัยคุกคามแหล่งธรรมชาติใต้ทะเลลึกรุนแรงขึ้นทุกวันและเตือนว่าถ้าสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางธรรมชาติใต้ทะเลลึกยังถูกทำลายต่อไปจะเกิดผลเสียกว้างขวางไม่สามารถฟื้นคืนสภาพเดิมได้

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ กำลังเรียกร้องให้มีมาตรการปกป้องธรรมชาติใต้ทะเลลึก หลังจากพบว่าธรรมชาติและสัตว์ที่อาศัยใต้ทะเลลึกกำลังถูกคุกคามจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของมนุษย์อย่างฟุ่มเฟือยและภาวะโลกร้อน ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าภัยคุกคามแหล่งธรรมชาติใต้ทะเลลึกรุนแรงขึ้นทุกวันและเตือนว่าถ้าสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางธรรมชาติใต้ทะเลลึกยังถูกทำลายต่อไป จะเกิดผลเสียกว้างขวางไม่สามารถฟื้นคืนสภาพเดิมได้

การสำรวจทรัพยากรทางทะเล เป็นการสำรวจเชิงวิทยาศาสตร์เพื่อศึกษาดูพืชและสัตว์ที่อาศัยใต้มหาสมุทรต่างๆบนโลก รวมทั้งระบบนิเวศใต้ทะเลลึกด้วย ศาสตราจารย์ซินดี้ วาน โดเว่อร์ ผู้เชื่ยวชาญด้านชีวภาพวิทยาทางทะเล มหาวิทยาลัย Duke อธิบายจุดประสงค์ของการสำรวจสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมใต้ทะเลลึกนี้ว่า เป็นการสำรวจว่า มีสัตว์ทะเลอะไรบ้างอาศัยอยู่ใต้ทะเลลึก พวกมันมีพฤติกรรมอย่างไร สัตว์ทะเลพวกนี้มีลักษณะอย่างไรในอดีตและจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในอนาคต การศึกษาค้นคว้านี้เป็นความพยายามดึงสังคมนานาชาติเข้าหากัน ตั้งคำถามร่วมกัน เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญจากหลายๆชาติซึ่งมีความรู้หลากหลายด้านกัน นำไปสู่การสร้างความรู้ความเข้าใจถึงชีวิตใต้ทะเลในปัจจุบันและในอนาคต

ในช่วงการสำรวจระยะสิบปี โดยเพิ่งครบสิบปีเมื่อปีที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ซินดี้ วาน โดเวอร์ กับทีมนักวิทยาศาสตร์ผู้ร่วมการสำรวจ เริ่มเห็นปัญหาที่คุกคามความหลากหลายทางชีวภาพใต้ทะเลลึกบ้างแล้ว โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใกล้กับพื้นผิวดินใต้ท้องทะเล ทีมนักสำรวจชุดนี้ได้ตีพิมพ์รายงานการศึกษาเมื่อเร็วๆนี้ เน้นย้ำผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ต่อการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศวิทยาใต้ทะเลลึก

ตัวศาสตราจารย์ซินดี้ วาน โดเวอร์เอง กังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรณีและแร่ธาตุใต้ทะเลลึกของมนุษย์แบบเอาแต่ได้เพราะมีบริษัททำเหมืองแร่ทะเลลึกมากมาย ขุดเอาแร่ธาตุต่างๆจากดินใต้พื้นทะเลซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหลากหลายชนิดไปใช้ประโยชน์ เมื่อมีการขุดเอาแร่ธาตุออกจากใต้ทะเล แหล่งอาศัยของสัตว์น้ำใต้ทะเลก็ถูกทำลายไปด้วย เมื่อแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารถูกทำลายไปเรื่อยๆ สัตว์น้ำต้องแย่งที่อยู่ที่กิน แม้ว่าระบบนิเวศวิทยาใต้ทะเลอาจฟื้นตัวในที่สุด แต่จะใช้เวลานาน ไม่ทันต่อการทำลายโดยฝีมือบริษัททำเหมืองแร่ใต้ทะเล

ศาสตราจารย์ซินดี้ วาน โดเวอร์ กล่าวว่า การทำเหมืองแร่ทะเลลึกที่ดูุดเอาดินใต้ทะเลอันอุดมไปด้วยสินแร่ที่หายากอาทิ ก้อนแร่แมงกานีส กับแหล่งสะสมแร่ซัลไฟด์ที่สกัดเป็นทองแดงกับเงิน กำลังทำกันอย่างกว้างขวางและหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ได้เตือนว่าการทำเหมืองแร่ทะเลลึกต้องทำอย่างระมัดระวัง มีแผนการปฏิบัติการที่ดี ต้องมีโครงการฟื้นสภาพแวดล้อมควบคู่ไปด้วย เพื่อป้องกันการสาปสูญของความหลากหลายทางชีวภาพใต้ทะเล

ด้านด็อกเตอร์ลิซ่า เล็ฟวิน ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาทางทะเล ที่สถาบันทะเลวิทยา Scripps ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย แสดงความกังวลต่ออุณหภููมิของโลกที่ร้อนขึ้นว่าจะเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล อุณภูมิผิวน้ำสูงขึ้น แหล่งอาหารใต้ทะเลเปลี่ยนแปลงไป ระดับออกซิเจนในน้ำลดลง สัตว์น้ำใต้ทะเลก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย

ด็อกเตอร์ลิซ่า เล็ฟวิน กล่าวว่า ผลกระทบในเรื่องนี้ ยังไม่มีใครรู้เพราะไม่มีการศึกษากันชัดเจน เธอกังวลว่า สัตว์น้ำบางชนิดอาจจะสูญพันธุ์ไป การสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำแต่ละชนิดล้วนมีผลกระทบในตัวของมันเองและมีผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารตามธรรมชาติทั้งของสัตว์ใต้ท้องทะเลจนถึงสัตว์บกและมนุษย์ด้วย

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อกันว่า ทะเลนอกจากจะเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ที่มีความหลากหลายมากที่สุดบนโลกแล้ว ยังได้ชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของพัฒนาการทุกชีวิตบนโลก ศาสตราจารย์ เคร็ก สมิท ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเลวิทยา ที่มหาวิทยาลัยแห่งฮาวาย เชื่อว่านั่นทำให้ทะเลลึกมีคุณค่ามหาศาลต่อมนุษย์และกำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงในปัจจุบัน

ศาสตราจารย์ เคร็ก สมิท กล่าวว่า ทะเลลึกเป็นแหล่งข้อมูลที่มีคุณค่าถึงพัฒนาการต่างๆของสิ่งมีชีวิตและมีข้อมูลควรค่าแก่การศึกษาในแง่เทคโนโลยีชีววิทยา การสูญพันธุ์เป็นสิ่งถาวร ย้อนคืนไม่ได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราลดความหลากหลายทางชีววิทยาด้วยการทำให้สัตว์ชนิดหนึ่งสูญพันธุ์ไป เราก็ไปเปลี่ยนแปลงการพัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้

ศาสตราจารย์ เคร็ก สมิท บอกว่า การคงสภาพความหลากหลายทางชีวภาพใต้ทะเลลึกมีความสำคัญมากพอๆกับการดึงเอาทรัพยากรใต้ทะเลไปใช้ เขาและทีมผู้เชี่ยวชาญทางทะเลวิทยาที่เข้าร่วมการศึกษาสำรวจใต้ทะเลลึกครั้งยาวนานนี้ หวังว่าผลการสำรวจที่ออกมาจะช่วยให้รัฐบาลผู้ออกนโยบายการใช้ทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเล เข้าใจความสำคัญในการพิทักษ์ระบบนิเวศใต้ทะเลลึกไปพร้อมๆกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ

นอกจากนี้ทีมงานผู้สำรวจ ยังต้องการให้บรรดานักทะเลวิทยา เจ้าของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และสาธารณชนทั่วโลกรับรู้เรื่องชีวิตใต้ทะเลลึกมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การดูแล ฟื้นฟู ลดผลกระทบและอนุรักษ์ทะเลลึกในทุกระดับ

XS
SM
MD
LG