ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สิ่งที่คนงานจำนวนมากต้องเลือกในยุคโควิด: ฝืนทำงานต่อเพื่อค่าจ้างหรือลาป่วย?


Waiters wearing protective face masks talk while working as Miami-Dade county
Waiters wearing protective face masks talk while working as Miami-Dade county

แม้บริษัทหลายแห่งทั่วสหรัฐฯได้ทำการปรับนโยบายลาป่วยให้ครอบคลุมมากขึ้นตั้งแต่เกิดการระบาดของโคโรนาไวรัส แต่ความช่วยเหลือบางส่วนแก่พนักงานเริ่มลดน้อยลงแล้วเนื่องจากคนจำนวนมากได้รับวัคซีนป้องกันโควิดแล้ว

โควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่ยังแพร่ได้เเม้ร่างกายได้รับวัคซีนแล้ว และปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้กดดันให้ลูกจ้างจำนวนมากจำต้องเลือกระหว่างการฝืนทำงานต่อเพื่อให้ได้รับค่าจ้างหรือรักษาตัวที่บ้านโดยไม่ได้รับเงิน

แดเนียล ชไนเดอร์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญนโยบายของภาครัฐ แห่ง Harvard Kennedy School of Government ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เรียกสิ่งที่เกิดชึ้นว่า “วงจรอุบาทว์ เพราะแรงงานจำนวนมากหายไปเพราะคนไม่สบาย ซึ่งหมายความว่าภาระการทำงานจะเพิ่มมากขึ้นสำหรับคนที่ยังเลือกเข้ามาทำงานและคนเหล่านี้ไม่ต้องการลางานเมื่อป่วยลง“

อาจารย์ชไนเดอร์กล่าวเสริมว่าส่วนเเรงงานที่มีสิทธิ์ลาป่วยและยังรับค่าจ้างได้ กับแรงงานที่จะไม่ได้ค่าจ้างถ้าลาป่วย ยังคงอยู่ระดับเเทบจะเท่ากัน หากเปรียบเทียบ ช่วงก่อนเกิดโควิด และช่วงที่เกิดโควิดเเล้ว

นอกจากนี้ลูกจ้างรายได้ต่ำจำนวนมากที่ตอบแบบสำรวจระบุว่าตนไม่มีเงิน $400 เพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน และตอนนี้ก็ได้รับผลกระทบหนักขึ้นเพราะเงินสนับสนุนสำหรับผู้มีบุตรที่รัฐเคยให้ได้หมดลงแล้ว

หน่วยงาน U.S. Bureau of Labor Statistics ระบุว่า แรงงานรายได้ต่ำได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยชี้ว่า แรงงานภาคเอกชนเกือบ 80% มีสิทธิ์ลาป่วยโดยยังได้รับเงินเดือนอยู่บ้าง

หากดูเฉพาะลูกจ้างที่มีรายได้ต่ำสุด 10% สุดท้ายตามระดับเงินเดือน เพียงแค่ 33% ของพวกเขาได้รับสิทธิ์ดังกล่าว แตกต่างจากลูกจ้างที่มีรายได้สูงสุด 10% แรกของระดับเงิน คนกลุ่มนี้ ร้อยละ 95 ยังคงได้รับเงินเดือนขณะที่ลาป่วย

wall street masked man
wall street masked man

ส่วนผลสำรวจที่น่าสนใจอีกชิ้นจาก Harvard’s Shift Project ได้สอบถามลูกจ้างรายชั่วโมงที่มีรายได้ต่ำ 6,000 คนถึงเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน และพบว่า 65% ของลูกจ้างกลุ่มข้างต้นตอบว่ายังเลือกที่จะเข้าทำงานอยู่ดี แม้จะมีอาการป่วย อาจารย์ชไนเดอร์เตือนว่ายอดดังกล่าวอาจจะสูงขึ้นเพราะโอมิครอนและปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

สำนักข่าวเอพีได้สัมภาษณ์พนักงานผู้หนึ่งในรัฐ นิวเม็กซิโก ที่เพิ่งเริ่มงานตำแหน่งใหม่และรู้สึกมีอาการที่เกี่ยวเนื่องกับโควิดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พนักงานผู้นี้ที่ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อได้เล่าให้ฟังว่า เขาลาหยุดเพื่อไปตรวจโควิดหนึ่งวันและอยู่บ้านต่ออีกสองวันเพื่อรอผล หัวหน้าของเขาแจ้งว่าจะสามารถใช้สิทธิ์ลาป่วยพร้อมรับค่าแรงได้ ตราบใดที่ผลออกมาเป็นบวกเท่านั้น ในกรณีที่ออกมาเป็นลบ พนักงานคนนี้จะไม่ได้รับค่าจ้างเพราะยังทำงานไม่ครบชั่วโมงที่จะสามารถใช้สิทธิ์ลาป่วยได้

ส่วนพนักงานอีกคนหนึ่งที่ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อที่ซูเปอร์มาร์เก็ต Trader Joe’s ในรัฐแคลิฟอร์เนียบอกสำนักข่าวเอพีว่า

“เพื่อนร่วมงานจำนวนมากเข้ามาทำงานและมักบอกว่าตนแพ้อากาศ เพราะพวกเขารู้สึกว่าไม่มีทางเลือกอื่น” เนื่องจากบริษัทจ่ายค่าแรงให้ตามจำนวนวันที่มีสิทธิ์ลาพักร้อนหรือลาป่วยเท่านั้น และเมื่อใช้สิทธิ์ข้างต้นหมดแล้ว พนักงานส่วนใหญ่มักจะรู้ว่าตนเองไม่สามารถลาป่วยได้เพราะจะไม่ได้รับค่าจ้างจากการหยุดงาน

Trader Joe’s เองก็เคยมีนโยบายจ่ายค่าจ้างยามวิกฤตและค่าจ้างให้แก่พนักงานที่มีอาการเกี่ยวเนื่องกับโควิด แต่ความช่วยเหลือข้างต้นได้สิ้นสุดลงในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีที่แล้ว และบริษัทไม่มีนโยบายให้ผู้ที่มาจับจ่ายซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตของ Trader Joe’s ทุกแห่ง ต้องสวมหน้ากากอนามัยอีกต่อไปด้วย

กรณีข้างต้นนั้นคล้ายคลึงกับนโยบายของหลายบริษัทในสหรัฐฯ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต Kroger หรือ Walmart ที่สิทธิพิเศษและวันลาลงเมื่อเทียบกับตอนที่เกิดการระบาดใหม่ๆ

ส่วนผู้ประกอบการรายเล็กอย่าง ดอน ครอว์ลี่ เจ้าของบริษัททำความ House Cleaning Heroes ที่ไม่มีกำลังทรัพย์พอที่จะจ่ายค่าแรงให้ลูกจ้างที่เลือกที่จะอยู่บ้านเมื่อพวกเขาป่วย ได้บอกกับสำนักข่าวเอพีว่า เธอพยายามช่วยเหลือเท่าที่เธอทำได้ เช่น การขับรถไปส่งลูกจ้างที่ศูนย์ตรวจโควิดและซื้อน้ำส้มกับยาให้

หน่วยงาน National Conference of State Legislatures ชี้ว่า ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา รัฐต่างๆถึง 14 รัฐและกรุงวอชิงตันได้พยายามยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือแรงงานมากขึ้นผ่านกฎหมายที่บังคับให้บริษัทจ่ายค่าแรงเมื่อพนักงานใช้สิทธิ์ลาป่วย

แต่การเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือแรงงานกลับขาดความคืบหน้าจากฝ่ายรัฐบาลกลาง ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายที่ผ่านการอนุมัติจากสภาผ่านเมื่อฤดูใบไม้ผลิที่บังคับให้บริษัทจ่ายค่าแรงให้ลูกจ้างอาการป่วยที่เกี่ยวเนื่องกับโควิดได้หมดผลบังคับใช้เมื่อสิ้นปีที่แล้ว และการลดหย่อนภาษีเพื่อช่วยเหลือบริษัทที่ออกนโยบายออกค่าแรงให้พนักงานที่ใช้สิทธิลาป่วยก็หมดวาระไปแล้วด้วย

ส่วนร่างกฎหมาย Build Back Better ของประธานาธิบดี โจ ไบเดนที่ต้องการบังคับให้ผู้จ้างงานให้สิทธิลาหรือสิทธิดูแลครอบครัวถึง 20 วัน ก็ไม่ได้ความคืบหน้าในสภาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเช่นกัน

โจเซฟีน คาลิเพนี่ ผู้อำนวยการของ Family Values @ Work ซึ่งเป็นองค์กรที่มีเครือข่ายเคลื่อนไหวด้านแรงงงานมากถึง 27 รัฐ กล่าวว่า “เราไม่สามารถทำงานแบบแก้ปัญหาแค่ระยะสั้น ทั้งหมดต้องเป็นการแก้อย่างครอบคลุม ต้องมีความหมาย”

ทั้งนี้ วิจัย จากศูนย์ World Policy Analysis Center ที่มหาวิทยาลัยเเคลิฟอร์เนียที่ลอสเเองเจลิส ที่จัดทำขึ้นเมื่อปี 2020 ระบุว่า สหรัฐฯเป็น 1 ใน 11 ประเทศทั่วโลกที่รัฐบาลกลางไม่มีนโยบายใดๆที่บังคับให้มีการจ่ายค่าจ้างเเก่แรงงานที่ลาป่วย

(ที่มา สำนักข่าวเอพี)

XS
SM
MD
LG