ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ว่าด้วยนโยบายจีนของ ไบเดน : เจรจาคู่ขนานเตรียมเผชิญหน้า


Biden US China
Biden US China
US China Talks
please wait

No media source currently available

0:00 0:05:00 0:00

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงเป็นประเด็นที่ต้องมีการจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลและกองทัพของทั้งสองฝ่าย ต่างเดินเกมในลักษณะที่เปิดโอกาสให้มีการเจรจาพร้อมๆ กับการเดินหน้ายุทธศาสตร์ทางทหารอย่างต่อเนื่อง

พัฒนาการที่น่าสนใจที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ในด้านที่เกี่ยวกับนโยบายจีนของรัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน ก็คือ การเดินหน้าเจรจากิจการด้านการทหารระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่เดินหน้าไปพร้อมๆ กับการเพิ่มงบประมาณกลาโหมของรัฐบาลกรุงวอชิงตัน ซึ่งกลายมาเป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์ชี้ชัดเจนแล้วว่า สหรัฐฯ กำลังดำเนินนโยบายสองแพร่งเพื่อรับมือกับอิทธิพลจีนไปพร้อมๆ กัน

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา วุฒิสภาสหรัฐฯ เพิ่งลงมติอนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณด้านกลาโหมแห่งชาติ หรือ National Defense Authorization Act (NDAA) ฉบับใหม่ที่จัดสรรงบประมาณ 770,000 ล้านดอลลาร์ให้กับกิจการด้านกลาโหม ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่ปธน.ไบเดน ร้องขอถึง 25,000 ล้านดอลลาร์ และครอบคลุมถึงงบประมาณ 7,100 ล้านดอลลาร์สำหรับข้อริเริ่มภารกิจป้องปรามแปซิฟิก (Pacific Deterrence Initiative) ที่มีจุดประสงค์เพื่อตรวจสอบการขยายอิทธิพลของจีนด้วย

ขณะเดียวกัน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวแทนจากกองบัญชาการอินโด-แปซิฟิก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศของสหรัฐฯ เข้าร่วมประชุมออนไลน์กับตัวแทนจากกองกำลังที่เกี่ยวข้องของกองทัพปลดปล่อยประชาชนของจีน เพื่อหารือเกี่ยวกับหนทางที่ต่างจะปฏิบัติภารกิจของตนอย่างปลอดภัยในน่านน้ำที่มีข้อพิพาทกันอยู่ในเอเชีย

แอรอน ราบีนา นักวิจัยจากมูลนิธิ Asia-Pacific Pathways to Progress Foundation ในกรุงมะนิลา กล่าวว่า ขณะที่ กองทัพสหรัฐฯ ทำหน้าที่ที่ตนต้องรับผิดชอบ เช่น การดำเนินการปฏิบัติการ Freedom of Navigation ในพื้นที่ทะเลจีนใต้ อย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยังคงเดินหน้าใช้ความสุขุมรอบคอบ ด้วยการคอยติดต่อสื่อสารกับฝ่ายจีนอย่างสม่ำเสมอ

ทั้งนี้ รัฐบาลกรุงวอชิงตันเพิ่มจำนวนเรือรบที่แล่นผ่านน่านน้ำทะเลจีนใต้เป็น 10 ลำต่อปี ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2019 โดยมีการรักษาระดับดังกล่าวไว้ต่อเนื่องมาจนถึงปีที่แล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ชี้แจงว่า เส้นทางที่เรือรบทั้งหลายแล่นผ่านนั้น เป็นเส้นทางของปฏิบัติการ Freedom of Navigation นั่นเอง

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ดำเนินอยู่นี้เป็นสิ่งที่นักวิชาการอธิบายว่าเป็นลักษณะของ “ศึกช่วงชิงมหาอำนาจ” โดยฝั่งกรุงวอชิงตันตั้งเป้าที่จะสกัดการขยายอำนาจของจีนในเอเชียตะวันออกและทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของบรรดาประเทศที่สหรัฐฯ นับว่าเป็นพันธมิตรทางภูมิรัฐศาสตร์ของตน และนักวิเคราะห์มองว่า ปธน.ไบเดน ตั้งใจจะเดินหน้าเกมช่วงชิงอำนาจที่ว่า แต่ตั้งความหวังไว้ด้วยว่า จะสามารถหลีกเลี่ยงเหตุการณ์รุนแรงใดๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้

การเจรจาพร้อมเดินหน้ายกระดับกำลังทหาร

รายละเอียดของร่างกฎหมาย NDAA ที่เพิ่งผ่านการลงมติของสภาสูงสหรัฐฯ เมื่อวันพุธ มีเนื้อความที่เป็นคำแถลงของสภาคองเกรสซึ่งระบุถึงการสนับสนุนการปกป้องไต้หวันและการห้ามกระทรวงกลาโหมไม่ให้ซื้อสินค้าใดๆ ก็ตามที่ผลิตโดยแรงงานบังคับในภูมิภาคซินเจียงของจีน โดยลำดับต่อไปของการผ่านร่างกฎหมายนี้คือ การลงนามอย่างเป็นทางการของปธน.ไบเดน เท่านั้น

ในส่วนของการหารือทางทหารระหว่างทั้งสองประเทศนั้น กระบวนการดังกล่าวเริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 1998 ซึ่งกองบัญชาการอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ ระบุว่า เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการเผชิญหน้าพร้อมๆ กับปรับปรุงพัฒนา “ระดับความปลอดภัยทางปฏิบัติการ” ทั้งทางอากาศและทางน้ำ โดยแถลงการณ์ที่ออกมาเมื่อวันศุกร์ เปิดเผยว่า ในระหว่างการประชุมครั้งล่าสุดนี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และจีน เน้นการพูดคุยเรื่องของการรักษา “ระดับความเป็นมืออาชีพ” และทบทวน “เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยมั่นคง”

เกรกอรี โพลิง ผู้อำนวยการโครงการ Asia Maritime Transparency Initiative ของศูนย์ Center for Strategic and International Studies ในกรุงวอชิงตัน ให้ความเห็นว่า สิ่งที่กองทัพสหรัฐฯ ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ สำหรับนโยบายจีนก็คือ การดำเนินแผนงานจัดการภาวะวิกฤตต่างๆ ในช่วงที่ เกิดความตึงเครียดในงานด้านการทูต หรือแม้แต่ในเรื่องเศรษฐกิจ โดยสิ่งที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้นก็คือ การหลุดออกจาก “พื้นที่สีเทา” และเข้าสู่ภาวะขัดแย้งเต็มรูปแบบ นั่นเอง

ยุทธศาสตร์ ‘สองแพร่ง’ สำหรับจีน

เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ปธน.ไบเดน ระบุชัดว่า การหารือระหว่างสหรัฐฯ และจีน เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของตน และยกหูคุยกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน เป็นครั้งแรกหลังจากการหารือของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสองประเทศประสบภาวะหยุดชะงักลงในสมัยรัฐบาลอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์

นักวิเคราะห์มองว่า การที่ผู้นำของสองมหาอำนาจยอมยกหูคุยกันนั้นเป็น ‘มิติใหม่’ ที่จะค่อยๆ นำไปสู่การหารือในเรื่องที่หนักขึ้นทั้งหลายที่ทำให้ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนสั่นคลอนมาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2017 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประเด็นการค้า งานด้านกงสุล หรือจุดยืนที่แตกต่างด้านภูมิรัฐศาสตร์

แถลงการณ์จากทำเนียบขาวหลังการหารือทางโทรศัพท์ระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และจีน ระบุว่า ปธน.ไบเดน “เน้นย้ำความสำคัญของการบริหารจัดการความเสี่ยงทางยุทธศาสตร์” ในการพูดคุยกับปธน.สี พร้อมๆ กับพูดย้ำถึงจุดยืนของสหรัฐฯ ที่จะเดินหน้าปกป้อง “ผลประโยชน์และคุณค่าของตน” ต่อไปด้วย

สำหรับผลลัพธ์ของการหารือระหว่างกองทัพทั้งสองนั้น นักวิชาการเชื่อว่า จะชัดเจนได้ก็ต้องดูว่า สหรัฐฯ และจีนจะดำเนินการอะไรต่อไปจากนี้ โดย แอรอน ราบีนา นักวิจัยจากมูลนิธิ Asia-Pacific Pathways to Progress Foundation ยกตัวอย่างเช่นว่า หากรัฐบาลสหรัฐฯ ตัดสินใจถอนตัวจากปฏิบัติการ Freedom of Navigation และแผนงานทางทหารต่างๆ ที่ทำร่วมกับไต้หวัน ทั้งกรุงวอชิงตันและกรุงปักกิ่งอาจสามารถบรรลุ “ฉันทามติ” เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่หยิบยกขึ้นมาหารือในการประชุมที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14-16 ธันวาคมที่ผ่านมาได้

คอลลิน โก นักวิจัยด้านความมั่นคงทางทะเลจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technological University) ประเทศสิงคโปร์ กล่าวเสริมว่า การหารือรอบถัดๆ ไป และการดำเนิน “มาตรการสร้างความเชื่อมั่น” ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จะเป็นตัวบ่งชี้ว่า การยกหูหารือระหว่าง ปธน.ไบเดนและปธน.สี นั้นก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมได้จริงหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวนั้นเชื่อว่า เพราะทั้งสองประเทศยังมีประเด็นเร่งด่วนที่ค้างคาอยู่ เจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายน่าจะตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าหารือกันไปอีกเรื่อยๆ

XS
SM
MD
LG