ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การหารือระดับผู้นำจะช่วยปรับสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนได้หรือไม่


(COMBO) This combination of file pictures created on June 8, 2021, shows US President Joe Biden, left, speaking at the Eisenhower Executive Office Building in Washington on June 2, 2021; and Chinese President Xi Jinping speaking on arrival at Macau's inte
(COMBO) This combination of file pictures created on June 8, 2021, shows US President Joe Biden, left, speaking at the Eisenhower Executive Office Building in Washington on June 2, 2021; and Chinese President Xi Jinping speaking on arrival at Macau's inte
US China Relations
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:58 0:00

ประธานาธิบดีไบเดนของสหรัฐฯ กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน มีแผนจะพบหารือระดับสุดยอดทางระบบออนไลน์ภายในสิ้นปีนี้ ท่ามกลางความคาดหวังว่าจะเป็นโอกาสของการปรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนได้

แต่บรรดานักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านจีนมองโอกาสความสำเร็จของเรื่องนี้แตกต่างกันไป เพราะปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในปัจจุบันมีอยู่มากมายหลายเรื่องด้วยกัน นับตั้งแต่การค้าและเทคโนโลยี ความมั่นคงทางไซเบอร์ การอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ ประเด็นเรื่องไต้หวัน รวมทั้งเรื่องการปฏิบัติต่อชาวมุสลิมอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง เป็นต้น

และถึงแม้นักวิเคราะห์หลายคนหวังว่าการหารือระหว่างผู้นำของทั้งสองประเทศแม้จะทำผ่านระบบออนไลน์จะช่วยปรับปรุงความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดให้ดีขึ้นได้ แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญด้านจีนบางคนเช่นกันที่เห็นว่า ลำพังการหารือระหว่างสองผู้นำคงยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจนี้กระเตื้องขึ้นได้ เพราะมีปัจจัยหลายอย่างซึ่งกำหนดปัญหาเหล่านี้

ตัวอย่างเช่น คุณคาร์ลา ฟรีแมน ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านจีนของสถาบัน United States Institute for Peace ในกรุงวอชิงตัน มองว่าการจะปรับความสัมพันธ์เพื่อเริ่มต้นใหม่นั้นดูจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะประเด็นขัดแย้งระหว่างสองประเทศนี้มีอยู่มากมาย และดูเหมือนว่าวิธีที่ดีที่สุดน่าจะต้องอาศัยการกลับไปสร้างความสัมพันธ์เพื่อเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจหรือที่เรียกว่า “economic recoupling” เพื่อช่วยสร้างแรงกระตุ้นเชิงสร้างสรรค์ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองนี้

แต่นายดรูว์ ทอมสัน นักวิจัยอาวุโสที่คณะนโยบายสาธารณะของ National University of Singapore ผู้เคยเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพสหรัฐฯ กับจีนให้ความเห็นว่า เขายังมองไม่เห็นสัญญาณบ่งชี้ใด ๆ ว่าจะมีฝ่ายใดที่ต้องการปรับความสัมพันธ์นี้ เพราะทั้งสองฝ่ายกำลังพยายามปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองและยังไม่มีอะไรที่แสดงว่าประเทศทั้งสองมีผลประโยชน์หรือเหตุผลทางการเมืองที่ร่วมกันอยู่

นอกจากนั้น นายดรูว์ ทอมสัน ยังชี้ด้วยว่า ขณะนี้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน กำลังให้ความสนใจกับการกระตุ้นและฟื้นฟูจีนให้เข้มแข็งไม่ใช่การปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ โดยนโยบายบางอย่างของประธานาธิบดีจีน เช่น นโยบาย dual circulation หรือนโยบายวงจรคู่ที่มุ่งการพึ่งพาตัวเองจากเศรษฐกิจภายในเป็นหลัก และยังคงดำรงฐานะการเป็นพลังเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก เช่น ผ่านทางแผนงานหนึ่งแถบหนึ่งถนนหรือ one belt one road นั้นก็ไม่ต้องการความสนับสนุนจากสหรัฐฯ แต่อย่างใด

ดังนั้นเขาจึงไม่คิดว่าปักกิ่งสนใจที่จะหารือเรื่องจุดยืนที่แตกต่างกับสหรัฐฯ ในเรื่องต่างๆ หรือพยายามที่จะโอนออนผ่อนตามสหรัฐฯ ในขณะที่สหรัฐฯ เองนั้นก็มุ่งเพื่อป้องกันไม่ให้ความสัมพันธ์กับจีนเสื่อมถอยจนถึงขั้นเป็นอันตราย ทั้งนี้เพื่อจะให้ความสนใจกับเศรษฐกิจและสังคมในประเทศของตนมากกว่า

อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ผู้นี้ยังชี้ด้วยว่า การที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ไม่เข้าร่วมประชุมระดับสุดยอดของผู้นำกลุ่ม G-20 และการประชุม COP26 ที่กำลังจะมีขึ้นเป็นการเน้นย้ำแนวคิดของจีนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องภายในมากกว่านโยบายต่างประเทศหรือการปรับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้เชี่ยวชาญบางคน เช่น คุณเอแวน เมเดโรส อาจารย์ของมหาวิทยาลัย Georgetown ผู้เคยเป็นที่ปรึกษาระดับสูงด้านเอเชียแปซิฟิคของประธานาธิบดีโอบามา ที่เชื่อว่าการปรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องผ่านการหารือโดยตรงในระดับผู้นำเท่านั้น ทั้งนี้จากลักษณะโครงสร้างทางการเมืองและการตัดสินใจของจีน รวมทั้งจากการมีอำนาจอย่างเต็มที่ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในปัจจุบัน

แต่ถ้าพิจารณาจากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญจีนแล้ว อาจารย์ฉี ยิงฮอง ของมหาวิทยาลัย Renmin ผู้เป็นที่ปรึกษาของคณะรัฐมนตรีจีนอยู่ด้วย ได้กล่าวตามรายงานของหนังสือพิมพ์ South China Morning Post ว่า ความสัมพันธ์และความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ขณะนี้อยู่ในระดับสูง และน่าจะคงอยู่ในสภาพนี้ต่อไปโดยยังไม่เห็นหนทางว่าจะผ่อนคลายลงได้ในอนาคตอันใกล้

ซึ่งในแง่นี้ก็ดูจะเป็นเรื่องที่อาจารย์คาร์ลา ฟรีแมน ของสหรัฐฯ เห็นด้วยจากเหตุผลที่ว่า ทั้งสองประเทศยังมีจุดยืนที่แตกต่างกันอยู่มากทั้งในแง่ค่านิยมและอุดมการ เช่น ประเด็นเรื่องไต้หวัน ซินเจียง และฮ่องกง ไปจนถึงเรื่องยุทธศาสตร์และการทหาร โดยจีนมักตอบโต้คำตำหนิวิจารณ์ของสหรัฐฯ ในเรื่องเหล่านี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะบ่อนทำลายและทำให้จีนขาดเสถียรภาพและความมั่นคง

XS
SM
MD
LG