ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทำอย่างไรถึงจะทำให้คนอเมริกัน ยอมสวมหน้ากากป้องกันสู้โควิด-19


Pedestrians wear masks as they cross Brand Boulevard, Thursday, July 23, 2020, in Glendale, Calif. Three out of four Americans, including a majority of Republicans, favor requiring people to wear face coverings while outside their homes, a new poll…
Pedestrians wear masks as they cross Brand Boulevard, Thursday, July 23, 2020, in Glendale, Calif. Three out of four Americans, including a majority of Republicans, favor requiring people to wear face coverings while outside their homes, a new poll…

สถานการณ์การระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในสหรัฐฯ ยังน่ากังวลอยู่ โดยเฉพาะเมื่อเร็วๆ นี้ สถาบัน Institute for Health Metrics and Evaluation ที่มหาวิทยาลัยแห่งวอชิงตัน คาดการณ์ว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศจะพุ่งขึ้นถึงระดับเกือบ 220,000 คนภายในต้นเดือนพฤศจิกายน

นักวิทยาศาสตร์ที่รวมประเมินครั้งนี้ กล่าวว่า “ถ้าหาก 95 เปอร์เซ็นต์ของ ชาวอเมริกันยอมใส่หน้ากากป้องกันเมื่อออกจากบ้าน ตัวเลขคาดการณ์นี้จะสามารถลดลงได้เกือบ 34,000 คน” พร้อมระบุว่า “ผู้ที่ปฏิเสธที่จะสวมใส่หน้ากาก ทำให้ชีวิตของผู้อื่น รวมทั้งคนในครอบครัว เพื่อนฝูงและชุมชนของตน ตกอยู่ในความเสี่ยง” ด้วย

อย่างไรก็ตาม รายงานโดยหนังสือพิมพ์ เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ เปิดเผยว่า ชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะในแถบภาคใต้และทางตะวันตกตอนกลางของประเทศของประเทศ (Midwest) ยังต่อต้านการสวมหน้ากากอยู่ ซึ่งมีสาเหตุมาจากเรื่องการเมืองมากกว่าเรื่องของการปฏิบัติตามหลักการสาธารณสุข

ความสับสนและขัดแย้งในเรื่องนี้ สะท้อนภาพความเป็นจริงในสหรัฐฯ เมื่อประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มส่งสัญญาณสนับสนุนให้ประชาชนสวมหน้ากากมากขึ้น หลังจากที่ปฏิเสธที่จะสวมหน้ากากเมื่ออยู่ในที่สาธารณะมาเป็นเวลานาน ขณะที่ ไบรอัน เคมป์ ผู้ว่าการรัฐจอร์เจีย ซึ่งเป็นสมาชิกพรรครีพับลิกัน ออกคำสั่งไม่ให้นายกเทศมนตรีเมืองแอตแลนตา ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคเดโมแครต ประกาศให้การสวมหน้ากากเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติในพื้นที่เมืองโดยไม่มีข้อยกเว้น

นอกจากเรื่องของจุดยืนที่แตกต่างกันระหว่างพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองของสหรัฐฯ ซึ่งกลายมาเป็นประเด็นโจมตีระหว่างกันมาโดยตลอด แกแวน ฟิตซ์ซิมอน ศาสตราจารย์ด้านการตลาดและจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยดุ๊ก ให้ความเห็นว่า คนจำนวนมากมองว่า หลักปฏิบัติทางสาธารณสุขเป็นภัยคุกคามต่อเสรีภาพของตน ทำให้หลายคนพยายามอย่างสุดกำลังที่จะไม่ทำตามคำแนะนำทั้งหลายนี้

ศาสตราจารย์ ฟิตซ์ซิมอน กล่าวเสริมว่า การใช้คำวิจารณ์รุนแรง ดังเช่นในกรณีของผู้ว่าการรัฐนอร์ท แคโรไลนา รอย คูปเปอร์ เรียกผู้ที่ไม่สวมใส่หน้ากากว่า เป็นพวกเห็นแก่ตัว ยิ่งจะทำให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยต่อต้านหนักขึ้นไปอีก เพราะการทำให้คนๆ หนึ่ง หรือคนกลุ่มหนึ่งยืนยันต่อสู้เพื่อเสรีภาพ กลายมาเป็นพวกผิดแปลกและรู้สึกละอายใจนั้น เป็นวิธีที่ไม่มีทางสำเร็จได้

แต่ความจำเป็นของการทำให้ประชาชนหันมาสวมหน้ากากมากขึ้นยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็น และโครงการรณรงค์ด้านสาธารณสุขคือหนทางที่ควรดำเนินด้วยวิธีที่ถูกจุด

แอนดรูว์ เชอร์เมอร์ ประธานร่วมของบริษัทพีอาร์ โอกิลวี เฮลธ์ ย้ำว่า สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งคือ การทำให้คนรู้สึกละอายใจ ขณะเดียวกัน การรณรงค์ด้านนี้ต้องใช้ผู้ส่งสารที่คนส่วนมากยอมฟัง

ยกตัวอย่างเช่น โฆษณาเรื่องการสวมหน้ากากที่รัฐนิวยอร์ก ที่เลือกใช้ นักแสดงแถวหน้า มอร์แกน ฟรีแมน มาเป็นผู้ส่งสารที่เชิญชวนให้สาธารณชนหันมาสวมใส่หน้ากาก ด้วยน้ำเสียงทุ้มนุ่มที่บอกว่า “เมื่อคุณสวมหน้ากาก คุณจะได้ความเคารพจากผม เพราะหน้ากากไม่ได้ปกป้องตัวคุณ หากแต่ปกป้องผม”

และแม้บริษัท โอกิลวี ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ผลิตโฆษณาชิ้นนี้ และไม่ได้ชอบงานชิ้นนี้สักเท่าใด เชอร์เมอร์ ยอมรับว่า การเลือกใช้ มอร์แกน ฟรีแมน ที่คนทั่วไปคุ้นหน้าในการรับบทบาทหลากหลาย ซึ่งรวมถึง บทบาทพระเจ้าและประธานาธิบดีสหรัฐฯ น่าจะช่วยให้ส่งสารที่เป็นเรื่องจริงจังนี้ออกมาได้มีประสิทธิภาพพอควร

ขณะเดียวกัน โอกิลวี เลือกนำเสนองานในแบบที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ด้วยการใช้ตัวละคร เจสัน วอร์ฮีส์ จากภาพยนตร์สยองขวัญ ศุกร์ 13 หรือ Friday the 13th ที่มีหน้ากากฮอกกี้เป็นสัญลักษณ์ประจำตัว ออกมาเดินเล่นบนท้องถนนนครนิวยอร์ก เพียงลำพังและผู้คนก็ไม่กล้าเข้าใกล้ จนกระทั่งมีเด็กสาวน้อยคนหนึ่งเดินมาหาและยื่นหน้ากากกระดาษให้ใส่ ก่อนที่เขาจะสวมใส่ และเด็กน้อยก็พยักหน้าแสดงความเห็นชอบ จากนั้น ก็มีข้อความขึ้นหน้าจอว่า “การใส่หน้ากากอาจดูน่ากลัว แต่การไม่ใส่หน้ากากอาจทำให้ถึงฆาตได้”

นอกจากการรณรงค์ผ่านสื่อต่างๆ แล้ว การทำให้เป็นกฎหมายเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนยอมสวมหน้ากากได้

โรนัลด์ เบเยอร์ ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุข จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวว่า สหรัฐฯ ผ่านจุดที่จะใช้แต่วิธีการโน้มน้าวผู้คนให้ปฏิบัติตามไปเรียบร้อยแล้ว เหมือนกับกรณีของการห้ามสูบบุหรี่และการคาดเข็มขัดนิรภัยขณะนั่งอยู่ภายในรถ ซึ่งถูกคนจำนวนไม่น้อยต่อต้าน เพราะรู้สึกว่าเสรีภาพของตนถูกลิดรอนไป

ศาสตราจารย์ ฟิตซ์ซิมอน จากมหาวิทยาลัยดุ๊ก ให้ความเห็นว่า ประเด็นเสรีภาพกับการคาดเข็มขัดนิรภัยเป็นเรื่องถกเถียงกันอย่างมากในช่วงแรก แต่ความพยายามส่งสารนี้ออกไปอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอสามารถทำให้เสียงต่อต้านด้วยการอ้างเสรีภาพนั้นค่อยๆ จางหายไป และไม่ใช่ประเด็นในที่สุด

ในเวลานี้ ศาสตราจารย์ ฟิตซ์ซิมอน หวังว่า การที่ปธน.ทรัมป์ ส่งสัญญาณสนับสนุนการสวมใส่หน้ากากบ้างแล้ว จะช่วยเปิดทางให้ความพยายามรณรงค์ หรือแม้แต่บังคับด้วยอำนาจของกฎหมาย อย่างเช่นในรัฐโอไฮโอ และรัฐอินเดียนา ซึ่งมีผู้ว่าการรัฐมาจากพรรครีพับลิกัน รวมทั้งรัฐมินนิโซตาซึ่งผู้ว่าการรัฐมาจากพรรคเดโมแครต จะประสบความสำเร็จมากขึ้นในไม่ช้า

XS
SM
MD
LG