ลิ้งค์เชื่อมต่อ

UN ระบุใน 4 ทศวรรษข้างหน้าชาวโลกจะไปแออัดอยู่ในเขตเมืองและมีแนวโน้มอาจขาดแคลนอาหารหากไม่เตรียมการล่วงหน้า


World Populations
World Populations

รายงานการศึกษาและวิจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม The World Economic and Social Survey ประจำปี 2013 ขององค์การสหประชาชาติ คาดการณ์ว่าภายในปีพุทธศักราช 2593 หรือในอีก 37 ปีข้างหน้า ประชากรโลกจะมีจำนวนมากกว่า 9 พันล้านคน และราว 2 ใน 3 หรือประมาณ 6 พัน 5 ร้อยล้านคนจะอาศัยอยู่ในเขตเมือง โดยเฉพาะเมืองต่างๆในทวีปเอเชียและแอฟริกาที่คาดว่าจะเป็นพื้นที่ที่ประชากรในเขตเมืองจะขยายตัวมากขึ้นกว่าร้อยละ 80 สวนทางกับเขตชนบทที่จะมีประชากรลดลงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เท่าที่เคยมีมา

เมื่อมีผู้คนแออัดในเขตเมืองมากขึ้น ความต้องการปัจจัยพื้นฐานย่อมเพิ่มตามไปด้วย ทั้งในเรื่องของ น้ำประปา ไฟฟ้า สุขอนามัย บริการสาธารณสุข การศึกษา และสุขภาพ ซึ่งถือเป็นภาระของเมืองใหญ่ต่างๆที่ต้องจัดหาแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อรองรับสิ่งเหล่านี้ และจำเป็นต้องจัดการแบบอย่างรอบด้านและลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพในเรื่องการใช้ที่ดิน ความมั่นคงทางอาหาร การสร้างงาน และการคมนาคม

Willem Van Der Geest หัวหน้าหน่วยวิเคราะห์นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนา องค์การสหประชาชาติ บอกว่า การที่เขตเมืองขยายตัว นั้นทำให้ผู้คนในพื้นที่ชนบทลดลงตามไปด้วย ซึ่งหมายความว่าการวงจรห่วงโซ่อาหารและวิถีสังคมชนบทจะต้องเปลี่ยนตามไปด้วย

เขาบอกว่า การมพื้นที่กว้างใหญ่ในเขตชนบทที่รกร้างที่ไม่มีผู้คนอาศัยมากขึ้นอาจมีผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมที่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องบูรณาการใช้ประโยชน์พื้นที่เขตนอกเมืองและเขตเศรษฐกิจในตัวเมืองร่วมกันเพื่อการมีหลักประกันด้านโภชนาการที่ดี มีความมั่นคงทางอาหาร และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

รายงานของสหประชาชาติ ยังระบุด้วยว่า การพัฒนาการอย่างบูรณาการรอบด้านคือกุญแจสำคัญสำหรับการแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารและความยากจน ซึ่งมีตัวเลขระบุว่ามีผู้คน 1 ใน 8 คนของประชาการโลกในปัจจุบันที่ยังคงประสบภาวะอดอยากซ้ำซาก

Shamshad Akhtar ผู้ช่วยเลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ ฝ่ายการพัฒนาเศรษฐกิจ บอกว่า การผลิตอาหารโดยรวมของโลกนั้นจำเป็นต้องเพิ่มกว่าร้อยละ 70 เพื่อที่จะสามารถรองรับความต้องการของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นกว่า 2 พัน 3 ร้อยล้านในอีกประมาณ 40 ปีข้างหน้า โดยระบุว่า เราคาดว่าจะมีความต้องการด้านอาหารเพิ่มมากขึ้น ด้วยการเปลี่ยนไปสู่การผลิตแหล่งอาหารแบบเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นการปศุสัตว์ การโคนม ซึ่งเพิ่มความกดดันต่อการใช้ที่ดิน รวมไปถึงแหล่งน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพให้มากขึ้น ขณะเดียวกันเราก็ต้องลดปริมาณการสูญเสียอาหารไปอย่างสูญเปล่าซึ่งปัจจุบันพบว่ามีอาหารจากทั่วโลกที่เสียไปโดยเปล่าประโยชน์มากกว่าร้อยละ 32 ซึ่งหากจะลดตัวเลขเหล่านี้ได้หมายความว่าต้องเปลี่ยนวิธีจัดการห่วงโซ่อาหาร การจัดเก็บ การขนส่งและการบริโภค

รายงานวิจัยชิ้นนี้สรุปว่าการใช้พลังงานจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งของการพัฒนาแบบยั่งยืน และเสนอที่จะยุติการพึ่งพาพลังงานความร้อนแบบเดิมที่ทำลายสิ่งแวดล้อม และหันไปพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่ซึ่งมีคุณภาพมากกว่าแทน




XS
SM
MD
LG