ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ยูเอ็นเผย รัฐบาลทหารเมียนมายกระดับการใช้ความรุนแรงอย่างน่ากลัว


Destroyed concrete structures are scattered in Nam Nein village, Pinlaung township in Shan state, Myanmar, March 12, 2023.
Destroyed concrete structures are scattered in Nam Nein village, Pinlaung township in Shan state, Myanmar, March 12, 2023.

แม้กองทัพเมียนมาจะปฏิเสธว่า ไม่ใช้ความรุนแรงในการบุกคนหมู่บ้านต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา ผู้รอดชีวิตและพยานหลายรายบอกกับ วีโอเอ ว่า ในปฏิบัติการดังกล่าว ทหารเมียนมาใช้กำลังเชิงยุทธวิธีในการปราบปรามแรงต้านจากชาวบ้านทั้งหลาย โดยมีการเผาบ้านเรือน ทรมาน ข่มขืนและการสังหารหมู่ด้วย

ข้อมูลจากพยานกลุ่มหนึ่งระบุว่า กองทัพทหารเมียนมาเข้าบุกค้นหมู่บ้าน ทาร์ ทาอิง ในเขตสะกาย เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีชาวบ้านเสียชีวิต 17 ราย โดยทุกคนถูกทรมานอย่างโหดเหี้ยมก่อนจะถูกสังหาร ขณะที่ สื่อที่สนับสนุนรัฐบาลทหารเรียกเหยื่อทุกคนที่ถูกยิงที่หลังศีรษะว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย”

และหลังจากการบุกค้นหมู่บ้านดังกล่าว ทหารเมียนมาเดินหน้าปฏิบัติการแบบเดียวกันในหมู่บ้านอีกแห่งในรัฐชาน โดยมีพลเรือนเกือบ 30 คนเสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะที่ ภาพถ่ายและคลิปวิดีโอในที่เกิดเหตุที่กองกำลังป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง (Karenni Nationalities Defense Force – KNDF) เปิดเผยออกมา และ วีโอเอ ตรวจสอบความถูกต้องแล้ว แสดงให้เห็นว่า มีการกองศพอย่างน้อย 21 ศพทับกันที่รอบ ๆ วัดในหมู่บ้านดังกล่าวด้วย

อย่างไรก็ดี หลังภาพและคลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกมา รัฐบาลทหารเมียนมาออกมาอ้างว่า ทั้งหมดที่เสียชีวิตเป็นชาวบ้านที่ถูกนักรบในพื้นที่สังหาร

ข้อมูลจากแหล่งข่าวของเอพีระบุว่า ทหารในเมียนมาบุกเข้าหมู่บ้านหลายแห่ง ทำการข่มขืน ตัดหัว และสังหารผู้คนในเขตสะกาย หลายต่อหลายครั้ง

สื่อ Myanmar Now ที่รายงานข่าวเป็นภาษาพม่าและภาษาอังกฤษผ่านเว็บไซต์ของตน ชี้ว่า เหตุสังหารหมู่ที่หมู่บ้าน ทาร์ ทาอิง นั้น เป็น “การสังหารหมู่ที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่ง” นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 2021

ขณะเดียวกัน รัฐบาลทหารเมียนมาไม่ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นที่หมู่บ้านดังกล่าว แต่มีการโพสต์ข้อความผ่านบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ของตน เช่น เทเลแกรม ที่ระบุว่า การบุกค้นหมู่บ้านนั้น ที่จริงแล้ว คือการต่อสู้กับกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defense Forces – PDF) ในหมู่บ้านต่าง ๆ ในเขตสะกาย

ผู้สื่อข่าว วีโอเอ ได้พูดคุยกับชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่รอดชีวิตและยืนยันเหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ ดังที่มีรายงานออก ทั้งยังยืนยันด้วยว่า ชาวบ้านนั้นไม่มีอาวุธและในพื้นที่หมู่บ้านของตนก็ไม่มีสมาชิก PDF อยู่ด้วย

Pinlaung in Shan State, Myanmar
Pinlaung in Shan State, Myanmar

วีโอเอ ยังได้พูดคุยกับ คุน เบดู ประธานกองกำลังป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง (KNDF) ที่ยืนยันเหตุการณ์สังหารหมู่ที่รัฐชาน เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา หลังส่งสมาชิกไปยังบริเวณที่เกิดเหตุเพื่อบันทึกภาพและข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

และในวันที่ 12 มีนาคม วีโอเอ ได้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับ พลเอกจ่อ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหาร ซึ่งยืนยันว่า เกิดเหตุสังหารหมู่ที่รัฐชาน แต่กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลจากการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มติดอาวุธกลุ่มต่าง ๆ โดยทหารของกองทัพ ที่รู้จักกันในชื่อ “ทัตมาดอว์” ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

โนลีน เฮย์เซอร์ ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ ขึ้นให้ข้อมูลต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็นเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้วว่า นับตั้งแต่เมื่อรัฐบาลทหารเมียนมาประกาศยืดระยะเวลาการบังคับใช้อำนาจภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารได้ยกระดับการใช้กำลังของตน ที่รวมถึงการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิด การเผาบ้านเรือนของประชาชน และ “ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเพื่อรักษาอำนาจของตนไว้”

ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติระบุด้วยว่า รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ 47 เขต และยังติดอาวุธให้กับพลเรือนที่สนับสนุนตนด้วย

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สหรัฐฯ เพิ่งประกาศสั่งลงโทษรอบใหม่ต่อรัฐบาลทหารเมียนมา โดยพุ่งเป้าไปยังเสบียงคลังน้ำมันสำหรับเครื่องบินที่นำส่งให้กับกองทัพและพันธมิตรต่าง ๆ เป็นหลัก โดยแถลงการณ์จากกระทรวงการคลังระบุว่า มีบุคคล 2 คนและองค์กร 6 แห่งที่เป็นเป้าการลงโทษครั้งนี้เนื่องจากความใกล้ชิดกับรัฐบาลทหาร

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG