ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ช่องโหว่ชั้นโอโซนฟื้นตัว-คืนสภาพสมบูรณ์ในอีก 43 ปีข้างหน้า


APTOPIX Ozone Hole Banned Chemical
APTOPIX Ozone Hole Banned Chemical

รายงานฉบับใหม่ขององค์การสหประชาชาติระบุว่า ชั้นโอโซนที่ปกป้องโลกค่อย ๆ ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในระดับที่จะปิดหลุมโอโซนเหนือทวีปแอนตาร์กติกาได้อย่างสมบูรณ์ในเวลาประมาณ 43 ปีข้างหน้า

การประเมินทางด้านวิทยาศาสตร์ด้านการสูญเสียชั้นโอโซน (Scientific Assessment of Ozone Depletion) ที่จัดทำขึ้นทุก ๆ 4 ปี พบว่า การฟื้นตัวนี้กำลังดำเนินอยู่ ซึ่งเป็นเวลานานกว่า 35 ปีมาแล้ว หลังจากที่ทุกประเทศทั่วโลกเห็นพ้องที่จะยุติการผลิตสารเคมีที่ทำลายชั้นโอโซนในชั้นบรรยากาศของโลก ซึ่งช่วยปกป้องโลกจากรังสีอันตรายที่มีความเชื่อมโยงกับการเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง ต้อกระจก และความเสียหายของผลผลิตการเกษตร

Ozone hole over the South Pole on 16 September 2021 (AP Photo/European Space Agency, ESA)
Ozone hole over the South Pole on 16 September 2021 (AP Photo/European Space Agency, ESA)

พอล นิวแมน (Paul Newman) ประธานร่วมของการประเมินทางวิทยาศาสตร์กล่าวว่า “จะเห็นได้ว่าสิ่งต่าง ๆ ดีขึ้นในชั้นสตราโตสเฟียร์ตอนบนและในหลุมโอโซน”

รายงานที่นำเสนอที่การประชุม American Meteorological Society ในเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด เมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า การฟื้นตัวของชั้นโอโซนนั้นดำเนินไปอย่างช้า ๆ ปริมาณโอโซนเฉลี่ยทั่วโลกที่สูง 18 ไมล์ หรือ 30 กิโลเมตรในชั้นบรรยากาศจะไม่กลับไปสู่ระดับก่อนการเบาบางในปี ค.ศ. 1980 จนกว่าจะถึงปี 2040 และจะไม่กลับสู่ระดับปกติในอาร์กติกจนกว่าจะถึงปี 2045

รายงานยังระบุด้วยว่า ชั้นโอโซนบริเวณทวีปแอนตาร์กติกาซึ่งบางจนเกิดเป็นรูโหว่ขนาดใหญ่ทุก ๆ ปีในชั้นบรรยากาศบริเวณนี้ จะยังไม่ได้รับการฟื้นฟูอย่างสมบูรณ์จนกว่าจะถึงปี 2066

In this NASA false-color image, the blue and purple shows the hole in Earth's protective ozone layer over Antarctica on Oct. 5, 2022.
In this NASA false-color image, the blue and purple shows the hole in Earth's protective ozone layer over Antarctica on Oct. 5, 2022.

นักวิทยาศาสตร์และบรรดานักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกต่างชื่นชมความพยายามในการรักษาหลุมโอโซนที่มีมานานแล้ว โดยมีจุดเริ่มต้นจากข้อตกลงในปี 1987 ที่เรียกว่าพิธีสารมอนทรีออล ว่าด้วยการห้ามใช้สารเคมีประเภทหนึ่งที่มักใช้ในสารทำความเย็นและสารแขวนลอยในอากาศ ซึ่งถือเป็นชัยชนะทางนิเวศวิทยาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งสำหรับมวลมนุษยชาติ

ศาสตราจารย์เพตเตร์รี ทาลัส (Petteri Taalas) เลขาธิการใหญ่องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) กล่าวในแถลงการณ์ว่า “กิจกรรมของโอโซนนั้นเป็นแบบอย่างสำหรับการดำเนินการด้านสภาพอากาศ ความสำเร็จของเราในการเลิกใช้สารเคมีที่ทำลายโอโซนแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่สามารถทำได้และจำเป็นต้องทำ และการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน”

The false-color view of total ozone over the Antarctic pole (l) and Arctic pole (r) on March 6, 2014. The purple and blue colors are where there is the least ozone, and the yellows and reds are where there is more ozone.
The false-color view of total ozone over the Antarctic pole (l) and Arctic pole (r) on March 6, 2014. The purple and blue colors are where there is the least ozone, and the yellows and reds are where there is more ozone.

นิวแมน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ด้านโลก แห่งศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ดขององค์การนาซากล่าวว่า สารเคมีหลักสองชนิดที่เล็ดรอดออกไปที่ชั้นโอโซนนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าในชั้นบรรยากาศ และรายงานระบุว่า ระดับสารคลอรีนลดลง 11.5% นับตั้งแต่จุดสูงสุดในปี 1993 และโบรมีนซึ่งมีประสิทธิภาพในการทำลายชั้นโอโซน ลดลง 14.5% นับตั้งแต่จุดสูงสุดในปี 1999

นิวแมน กล่าวอีกว่า การที่ระดับโบรมีนและคลอรีน “หยุดเพิ่มขึ้นและกำลังลดลงนั้นเป็นข้อพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพของพิธีสารมอนทรีออลอย่างแท้จริง”

เดวิด ดับเบิลยู เฟฮีย์ (David W. Fahey) ผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการวิทยาศาสตร์เคมี แห่งองค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ NOAA กล่าวว่า หลายทศวรรษที่ผ่านมา ผู้คนสามารถเข้าไปในร้านค้าและซื้อสารทำความเย็นอัดกระป๋องที่ทำลายชั้นโอโซน และทำให้ชั้นบรรยากาศเป็นมลพิษ แต่ตอนนี้ สารดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นสารต้องห้ามเท่านั้น แต่ยังไม่ค่อยมีใช้ตามบ้านหรือในรถยนต์อีกด้วย เพราะสิ่งเหล่านั้นถูกแทนที่ด้วยสารเคมีที่สะอาดกว่า

นิวแมน กล่าวต่อไปอีกว่า รูปแบบของสภาพอากาศตามธรรมชาติในทวีปแอนตาร์กติกาก็ส่งผลต่อระดับหลุมโอโซน โดยเฉพาะในฤดูใบไม้ร่วง และในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลุมโอโซนก็ใหญ่ขึ้นเล็กน้อยด้วยเหตุนี้ แต่แนวโน้มโดยรวมคือหลุมโอโซนนี้กำลังฟื้นตัว

อิงเจอร์ แอนเดอร์เซน (Inger Andersen) ผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ กล่าวกับเอพีเมื่อต้นปีนี้ว่า "การฟื้นตัวดังกล่าวเป็นการช่วยชีวิตผู้คนราวปีละ 2 ล้านคนจากการป่วยเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง"

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG