ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รายงานของ ESCAP เรียกร้องให้รัฐบาลในเอเชียลงทุนพัฒนาสังคมด้วยแทนที่จะมุ่งสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอย่างเดียว


คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก หรือ ESCAP เผยแพร่รายงานออกมา เรียกร้องให้รัฐบาลในเอเชียหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อพัฒนาสังคม แทนที่จะมุ่งเน้นในการลงทุนเพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางการเงินเป็นหลักอย่างที่เคยเป็นมา

รายงานประจำปีของ ESCAP ฉบับนี้กล่าวว่า ในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา การลงทุนของรัฐบาลตามประเทศต่างๆในเอเชียมุ่งเน้นไปในการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่คับแคบ โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะการกระทำเช่นนั้นทำให้ต้องลดการใช้จ่ายสำคัญๆในการพัฒนาสังคม เช่นการศึกษาและการรักษาสุขภาพอนามัย

รายงานของ ESCAP เรียกร้องให้มีการปรับการใช้จ่ายเพื่อให้มีคุณภาพและสมดุล โดยหันมาให้ความสนใจกับการรักษาสุขภาพอนามัย การศึกษา และการประกันสังคม โดยเฉพาะในเรื่องเบี้ยบำนาญและค่าครองชีพสำหรับผู้ทุพพลภาพ รวมทั้งการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม

Nobuko Kajiura เจ้าหน้าที่ฝ่ายเศรษฐกิจของ ESCAP อธิบายว่าคำเรียกร้องนี้มาจากผลสรุปของการศึกษาทดลองปรับการใช้จ่ายใน 10 ประเทศ ซึ่งรวมทั้งจีน อินเดีย บังคลาเทศ และอินโดนีเซีย ที่ระบุว่าการใช้จ่ายในลักษณะที่สมดุลและมีคุณภาพนี้ ทำได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจของประเทศ

งานของ ESCAP ครอบคลุม 62 ประเทศในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งมีประชากรรวมกันแล้วมากกว่า 4 พันล้านคน 800 ล้านคนในจำนวนนี้ จัดว่าเป็นกลุ่มยากจนที่สุด โดยมีค่าครองชีพวันละราวๆ 30 บาท และอีก 900 ล้านคน แม้จะดำรงชีพอยู่เหนือเส้นแบ่งความยากจน แต่ก็ยังมีรายได้ต่ำกว่า 60 บาทต่อวัน ทั้งหมดนี้บ่งชี้ว่า ในขณะที่อัตราความเจริญเติบโดของประเทศในเอเชียจะสูงกว่าส่วนอื่นๆของโลก แต่ความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้ในหลายประเทศ ทำให้ความยากจนในเอเชียเป็นปัญหาที่ยังจะต้องแก้ไขกันต่อไป

Nobuko Kajiura เจ้าหน้าที่ฝ่ายเศรษฐกิจของ ESCAP ให้ความเห็นว่านโยบายการคลังที่ได้ผลจะช่วยแก้ปัญหาที่ว่านี้ได้

เจ้าหน้าที่ฝ่ายเศรษฐกิจของ ESCAP กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวหมายถึง โครงการรับประกันงาน การประกันสังคมโดยไม่ต้องมีการจ่ายเบี้ยประกัน ซึ่งรวมถึงผู้ทุพพลภาพทั้งหมดด้วย เพิ่มการใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุข ให้ได้สัก 5% ของ GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศภายในปี ค.ศ. 2030 หรืออีกราวๆ 17 ปีข้างหน้า และการศึกษาสำหรับประชาชนทุกคนจนจบชั้นมัธยม และการเข้าถึงพลังงาน

นอกจากนี้ ยังควรมีนโยบายเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งรายงานของ ESCAP กล่าวยกย่องว่าประเทศไทยวางมาตรการในเรื่องนี้ไว้ดีและนำออกใช้อย่างได้ผล ทำให้มีจำนวนงานและ GDP เพิ่มขึ้น

รายงานของ ESCAP ยอมรับว่า จะต้องมีต้นทุนการใช้จ่ายอย่างมีคุณภาพเพื่อสังคม และชี้แนะว่า การปรับปรุงและส่งเสริมการเก็บภาษีของประเทศจะเพิ่มรายได้ให้พอกับการใช้จ่าย เจ้าหน้าที่ของ ESCAP กล่าวส่งท้ายว่า ประเทศใดในเอเชียจะนำข้อเสนอแนะเหล่านี้ไปใช้ ก็เป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจกันเอง และว่า รายงานของ ESCAP เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ว่า การใช้จ่ายเพื่อพัฒนาสังคมจะไม่ทำให้เศรษฐกิจล้มเหลว แต่จะทำประโยชน์ให้กับประเทศได้ในที่สุด
XS
SM
MD
LG