ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้กลับมาเปิดสายด่วนที่พรมแดน แต่อุปสรรคความสัมพันธ์สองเกาหลียังมีสามเรื่อง


South Korea Koreas Tensions
South Korea Koreas Tensions
Two Koreas Resume Talks
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:33 0:00

เมื่อเช้าวันอังคารที่ 27 กรกฎาคม เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เปิดช่องทางการติดต่อทางโทรศัพท์สายด่วนที่พรมแดนอีกครั้งหลังจากที่ถูกเกาหลีเหนือยกเลิกไปเมื่อปีที่แล้ว

นอกจากนั้นรัฐบาลกรุงโซลยังเปิดเผยเรื่องการแลกเปลี่ยนจดหมายหลายฉบับระหว่างผู้นำของทั้งสองประเทศตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งก็ทำให้เกิดความหวังว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองเกาหลีอาจจะดีขึ้นได้ในไม่ช้า อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ชี้ว่ายังมีปัญหาสำคัญอยู่อย่างน้อยสามเรื่องสำหรับการปรับความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเปียงยางกับกรุงโซล

สำนักข่าวของทางการเกาหลีเหนือยืนยันเช่นกันว่ามีการแลกเปลี่ยนจดหมายโต้ตอบระหว่างผู้นำของสองเกาหลีและมีการกลับมาเปิดโทรศัพท์สายด่วนที่หมู่บ้านชายแดนปันมุนจอมทั้งสำหรับช่องทางติดต่อทางทหารและสำหรับช่องทางการประสานงานกันจริง โดยเรียกการดำเนินการนี้ว่าเป็นก้าวสำคัญของการฟื้นฟูความไว้วางใจซึ่งกันและกันและเพื่อส่งเสริมความปรองดองระหว่างสองเกาหลี

การกลับมาติดต่อกันอีกครั้งนี้ดูเหมือนจะมีความสำคัญที่สุดสำหรับเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ในรอบกว่าสองปี เพราะเมื่อปี 2018 ประธานาธิบดีมูน แจ อินของเกาหลีใต้กับนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือได้พบปะกันสามครั้งและนำไปสู่การประชุมสุดยอดระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ กับนายคิม จอง อึน ด้วย

แต่หลังจากที่การเจรจาสุดยอดระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือล้มเหลวลงในปี 2019 เปียงยางได้กลับมามีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อกรุงโซลรวมทั้งได้ตัดช่องทางการติดต่อและทำลายศูนย์ประสานงานร่วมที่จุดใกล้พรมแดนด้วย

เท่าที่ผ่านมารัฐบาลของประธานาธิบดีมูน แจ อินซึ่งมีแนวทางก้าวหน้าได้พยายามผลักดันให้มีการเจรจากับเกาหลีเหนืออีกครั้งหนึ่ง โดยเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมหนังสือพิมพ์จุงอาง อิลโบของเกาหลีใต้รายงานว่าในจดหมายที่ส่งถึงกันและกันนั้นผู้นำสองเกาหลีได้หารือเรื่องความเป็นไปได้ของการหารือกันอีกครั้งในรูปแบบออนไลน์

และเมื่อเดือนมิถุนายนรัฐบาลกรุงเปียงยางก็ได้แสดงท่าทีที่เปิดรับเรื่องการหารือ โดยนายคิม จอง อึนกล่าวว่าเปียงยางควรเตรียมพร้อมสำหรับทั้งการเจรจาและการประจัญหน้ากับกรุงวอชิงตัน

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ชี้ว่ายังมีอุปสรรคสำคัญหลายอย่างสำหรับการปรับความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้และกับประเทศอื่นๆ โดยหนึ่งนั้นคือการซ้อมรบร่วมระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ซึ่งกำหนดจะมีขึ้นในเดือนสิงหาคม

เพราะโดยปกติแล้วเปียงยางมักจะมีปฏิกิริยาในทางไม่พอใจเรื่องการซ้อมรบและมักใช้โอกาสนี้เพื่อทดลองยิงจรวดหรือมีถ้อยคำที่ยั่วยุด้วย อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา สหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ได้ลดระดับของการฝึกซ้อมทางทหารลงในความพยายามเพื่อรักษาโอกาสทางการทูตไว้

ปัญหาท้าทายเรื่องต่อมาคือวาระการดำรงตำแหน่งห้าปีของประธานาธิบดีมูน แจ อินของเกาหลีใต้จะสิ้นสุดลงในช่วงต้นปีหน้า เพราะเกาหลีใต้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ในเดือนมีนาคม 2022 ซึ่งหากพรรค People Power Party แนวอนุรักษ์นิยมของเกาหลีใต้ชนะการเลือกตั้งก็มีโอกาสมากขึ้นที่รัฐบาลกรุงโซลจะมีท่าทีที่ประจันหน้ากับเกาหลีเหนือมากขึ้นด้วย

แต่อุปสรรคสุดท้ายที่ดูเหมือนจะสำคัญมากที่สุดสำหรับความร่วมมือระหว่างสองเกาหลีคือมาตรการคว่ำบาตรทั้งจากสหรัฐฯ และจากองค์การสหประชาชาติเพื่อลงโทษเกาหลีเหนือในขณะนี้ และก็ไม่มีทีท่าว่าผู้นำของเกาหลีใต้จะยอมละเมิดมาตรการลงโทษดังกล่าวเพื่อช่วยผ่อนบรรเทาภาระของเกาหลีเหนือด้วย

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ชี้ว่าการหารือระหว่างสองเกาหลีนั้นมักเกิดขึ้นก่อนที่เกาหลีเหนือจะยอมเจรจากับประเทศอื่นในระดับที่กว้างมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญกำลังจับตามองในขณะนี้ก็คือเกาหลีเหนือจะยอมลดความตึงเครียดกับเกาหลีใต้ลงหรือจะยอมรับความช่วยเหลือจากต่างชาติเพื่อบรรเทาภาวะวิกฤตจากโรคโควิด-19 หรือไม่ ซึ่งหากท่าทีเหล่านี้เป็นไปในทางบวกมากขึ้นก็มีโอกาสเพิ่มขึ้นเช่นกันที่เกาหลีเหนืออาจจะยอมกลับไปเจรจากับสหรัฐ

ที่มา: VOA

XS
SM
MD
LG