ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์รูปการณ์จากการประชุมสุดยอด 'ทรัมป์-คิม' ครั้งที่สอง ที่กรุงฮานอย 


T-shirts depicting U.S. President Donald Trump and North Korean leader Kim Jong Un are displayed for sale in a tourist area in Hanoi, Vietnam, Tuesday, Feb. 26, 2019.
T-shirts depicting U.S. President Donald Trump and North Korean leader Kim Jong Un are displayed for sale in a tourist area in Hanoi, Vietnam, Tuesday, Feb. 26, 2019.

นาย James Jay Carafano จากสถาบันนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงแห่งชาติของ Heritage Foundation เตือนว่า หากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยอมผ่อนปรนทางการเมืองให้กับเกาหลีเหนืออย่างสำคัญผลที่จะตามมาคือการถูกตำหนิวิจารณ์อย่างหนักจากทั้งสองพรรคการเมืองในสหรัฐฯ

และว่านี่คงเป็นสิ่งที่ผู้นำสหรัฐฯ ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น ถ้าพิจารณาจากปัญหาทางการเมืองและด้านกฎหมายที่ประธานาธิบดีทรัมป์กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะจากการสอบสวนของอัยการพิเศษ Robert Mueller

ส่วนนักวิเคราะห์คนอื่น เช่น Vipin Narang ผู้สอนวิชารัฐศาสตร์ที่ MIT กลับมองว่า ประธานาธิบดีทรัมป์อาจหยิบฉวยเรื่องการพบปะกับผู้นำเกาหลีเหนือมาประกาศอ้างเป็นความสำเร็จด้านนโยบายต่างประเทศได้ เพราะสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นคือ เพียงแค่นายคิม จอง อึน ยอมประกาศว่าจะลดอาวุธนิวเคลียร์ และประธานาธิบดีทรัมป์ก็แสร้งทำเป็นเชื่อในเรื่องนี้

โดยตราบเท่าที่นายคิม จอง อึน ไม่ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องเสียหน้าด้วยการทดสอบขีปนาวุธหรืออาวุธนิวเคลียร์ให้เป็นข่าวใหญ่โตอีก ประธานาธิบดีทรัมป์ก็จะสามารถนำผลงานเรื่องนี้มากล่าวอ้างเพื่อหาเสียงในประเทศได้

อาจารย์รัฐศาสตร์ผู้นี้ยังเสริมด้วยว่า หากเกาหลีเหนือยังคงทดลองอาวุธนิวเคลียร์อย่างเงียบๆ เรื่องดังกล่าวจะไม่เป็นข่าวใหญ่ และไม่เป็นที่สนใจของผู้คนในสหรัฐฯ

ส่วนศาสตราจารย์ Peter Kuznick ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาด้านนิวเคลียร์ของ American University ก็เห็นด้วยกับแนววิเคราะห์ดังกล่าว โดยชี้ว่า หากไม่มีความตึงเครียดหรือความขัดแย้งอย่างสำคัญปะทุขึ้นอีกบนคาบสมุทรเกาหลี คนอเมริกันส่วนใหญ่ก็คงจะพอใจกับการรักษาสถานะให้คงไว้ตามเดิม และหันไปสนใจเรื่องอื่นที่ใกล้ตัวมากกว่า

แต่คุณ Rebecca Heinrichs นักวิเคราะห์อาวุโสของสถาบัน Hudson มองว่า ถ้าประธานาธิบดีทรัมป์สามารถทำให้นายคิม จอง อึน ยอมร่วมมือและยังคงมาตรการลงโทษต่อเกาหลีเหนือต่อไปโดยเปียงยางยอมระงับการทดลองขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ ประธานาธิบดีทรัมป์ก็จะสามารถนำประเด็นเรื่องนโยบายต่างประเทศนี้มาใช้หาเสียงเลือกตั้งในปีหน้าได้ โดยอ้างว่าตนจำเป็นต้องอยู่ในตำแหน่งต่อไปอีกสี่ปีเพื่อทำเรื่องนี้ให้เสร็จสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังมีความวิตกกังวลว่าประธานาธิบดีทรัมป์อาจยอมทำตามคำเรียกร้องของเกาหลีเหนือ โดยถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากเอเชียตะวันออกเพื่อแลกกับการลดอาวุธนิวเคลียร์ของเปียงยาง

เพราะตามคำจำกัดความของเกาหลีเหนือนั้น การลดอาวุธนิวเคลียร์หมายความว่าศักยภาพด้านอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ จะต้องถูกถอนออกจากคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งรวมถึงทหารอเมริกันราว 30,000 คนในเกาหลีใต้และทหารอเมริกันและญี่ปุ่นด้วย

ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ นาย Duyeon Kim อาจารย์พิเศษที่ Center for a New American Society เตือนว่า เรื่องที่น่าวิตกก็คือ ประธานาธิบดีทรัมป์อาจพลั้งปากให้สัญญากับนายคิม จอง อึน โดยที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานระดับล่างไม่ได้รับรู้

และหากวอชิงตันยอมจำนนหรือผ่อนปรนต่อเกาหลีเหนือมากหรือเร็วไปเหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในสิงคโปร์ สหรัฐฯ ก็จะเสียอำนาจต่อรองทางการเมืองโดยสิ้นเชิง

ในส่วนของประธานาธิบดีทรัมป์เอง ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาวก่อนออกเดินทางไปกรุงฮานอยว่า ตนคิดว่าการพบปะหารือระดับสูงกับนายคิม จอง อึน ที่กรุงฮานอยครั้งนี้ อาจจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

XS
SM
MD
LG