ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ปธน.โอบาม่าจะเยือนเอเชีย 4 ประเทศในสัปดาห์นี้ โดยมีข้อตกลง Trans-Pacific Partnership (TPP) เป็นประเด็นหลัก


ปธน.โอบาม่าจะเยือนเอเชีย 4 ประเทศโดยมีข้อตกลง Trans-Pacific Partnership เป็นประเด็นหลัก

please wait

No media source currently available

0:00 0:03:55 0:00
Direct link

เวลานี้ประเทศในแถบเอเชีย-แปซิฟิก 12 ประเทศ กำลังเจรจาหารือกันเรื่องการยกเลิกหรือลดกำแพงภาษี หรือผ่อนคลายข้อบังคับบางอย่างสำหรับสินค้าบางประเภทที่จะซื้อขายระหว่างกัน ภายใต้ข้อตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรีภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิกที่มีชื่อว่า Trans-Pacific Partnership หรือ TPP ซึ่งมีสหรัฐเป็นผู้ผลักดัน

แต่ดูเหมือนการจัดทำข้อตกลง TPP นี้ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เมื่อทุกประเทศต่างต้องการปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง และหลายประเทศต่างผลิตสินค้าลักษณะคล้ายๆ กัน เช่น สหรัฐและญี่ปุ่นต่างเป็นผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์รายใหญ่ เช่นเดียวกับที่สหรัฐและออสเตรเลียต่างเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ โดยข้อตกลง TPP ถือเป็นประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่ประธานาธิบดี Barack Obama จะนำไปหารือกับผู้นำประเทศทางเอเชีย ระหว่างการเยือนเอเชีย 4 ประเทศ ได้แก่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซียและฟิลิปปินส์

รมต.พาณิชย์สหรัฐ Penny Pritzker กล่าวว่าเวลานี้ข้อตกลง TPP คือภารกิจสำคัญอันดับหนึ่งของรัฐบาลสหรัฐ รมต. Pritzker เชื่อว่าการเปิดตลาดเสรีทั่วภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก จะช่วยสนับสนุนการส่งออกของสหรัฐ ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและช่วยเพิ่มการจ้างงานได้

ปัจจุบัน 12 ประเทศที่เข้าร่วมในข้อตกลง TPP มีมูลค่าเศรษฐกิจคิดเป็น 40% ของเศรษฐกิจโลก และมีมูลค่าการค้าขายระหว่างกันคิดเป็น 26% ของการค้าโลก ด้วยเหตุที่ข้อตกลงดังกล่าวมีมูลค่ามากมายมหาศาลและกระจัดกระจายเช่นนี้ ทำให้การเจรจาแต่ละครั้งกลายเป็นเรื่องสลับซับซ้อน จนบางประเทศตัดสินใจใช้วิธีเจรจาข้อตกลงแบบทวิภาคีแทนการเจรจาแบบรวมกลุ่ม

เมื่อต้นเดือนนี้ ออสเตรเลียตกลงกับญี่ปุ่นว่าจะลดภาษีสำหรับสินค้าอิเลคทรอนิคส์จากญี่ปุ่น ขณะที่ญี่ปุ่นก็จะลดภาษีสินค้าเนื้อหมูและเนื้อวัวจากออสเตรเลียเช่นกัน ขณะเดียวกัน สหรัฐและญี่ปุ่นต่างกำลังเจรจากันอย่างตึงเครียดว่าจะเปิดเสรีหรือลดภาษีสินค้าประเภทใดบ้าง

นักวิเคราะห์เชื่อว่าการที่สหรัฐกำลังเร่งผลักดันข้อตกลง TPP อย่างเร่งด่วน เป็นเพราะต้องการแสดงให้เห็นว่าข้อตกลงนี้คือส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของนโยบายของรัฐบาลสหรัฐที่มีเอเชียเป็นศูนย์กลาง ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจจีนกำลังขยายตัวจนอาจก้าวขึ้นเป็นประเทศเศรษฐกิจรายใหญ่ที่สุดของโลกแทนสหรัฐในช่วงไม่กี่ปีจากนี้ โดยที่จีนมิได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาข้อตกลงฉบับนี้ด้วย

ถึงกระนั้น คุณ Barbara Kotschwar นักวิเคราะห์แห่งสถาบัน Peterson Institute for International Economics ในกรุงวอชิงตัน ชี้ว่าแม้ในช่วงเริ่มต้นผู้คนทั่วไปต่างพูดกันว่า สหรัฐใช้ข้อตกลง TPP เพื่อควบคุมจำกัดจีน แต่ในช่วงหลังความเกรงกลัวดังกล่าวเริ่มหายไป เมื่อสหรัฐและจีนเริ่มพูดถึงการเจรจาเรื่องข้อตกลงการลงทุนระหว่างทั้งสองฝ่ายมากขึ้น รวมถึงการชักชวนจีนเข้าร่วมใน Trans-Pacific Partnership

อย่างไรก็ตาม แม้ตอนนี้จีนจะยังไม่ตกลงเข้าร่วม แต่ดูเหมือน 12 ประเทศที่กำลังเจรจากันอยู่ก็ดูจะยุ่งเหยิงและมีปัญหามากมายพออยู่แล้ว จนทำให้ความหวังที่จะเห็นข้อตกลง Trans-Pacific Partnership เสร็จสมบูรณ์นั้น เลือนลางไปทุกที

รายงานจาก Ken Bredemeier – VOA / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล
XS
SM
MD
LG