ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยชี้ว่าเปลือกต้นไม้เป็นตัววัดระดับสารพิษในสิ่งแวดล้อมได้ดี


สารทนไฟประเภทโบรมีนที่ใช้หน่วงการติดไฟในสินค้าอุปโภคทั้งหลายตั้งแต่เครื่องเรือนจนถึงเสื้อผ้าเป็นสารเคมีที่มีพิษต่อร่างกายคนและได้ปะปนอย่างกว้างขวางในสิ่งแวดล้อม ขณะนี้ทีมนักวิจัยอเมริกันได้ค้นพบวิธีตรวจวัดสารพิษชนิดนี้ในสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีใหม่ที่ง่ายขึ้นแต่ถูกลง

ที่มหาวิทยาลัย Indiana University คุณเอ็มมีนา ซัลลาโมว่า นักวิจัยทางวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับสารเคมีทนไฟประเภท โพลีโบรมิเนเต็ดไดพีนีล อีเธอร์ (polybrominated diphenyl ethers) หรือ สาร PBDEs เป็นสารทนไฟที่นิยมใช้กันในการหน่วงการติดไฟอย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์ต่างๆ แต่สารเคมีเหล่านี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์

คุณซัลลาโมว่ากล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าสารเคมีทนไฟที่ใช้กันในปัจจุบันมีผลกระทบต่อระบบประสาท ระบบสืบพันธุ์และระบบต่อมไร้ท่อและต่อมไทรอยด์

สารประเภทนี้จะตกค้างในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานานหลายปีและนักวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้แน่ชัดว่าสารเคมีเหล่านี้แพร่กระจายไปในสิ่งแวดล้อมได้อย่างไรและอยู่ที่ไหนบ้าง

เพื่อหาคำตอบนี้ คุณซัลลาโมว่า กับ คุณโรนัลด์ ไฮท์ส ผู้ร่วมงานวิจัยได้พัฒนาเทคนิคใหม่เพื่อตรวจหาและวัดระดับการปนเปื้อนของสารทนไฟประเภทโบรมีนที่มีอยู่ในอากาศด้วยการตรวจตัวอย่างเปลือกต้นไม้

คุณไฮท์ส ผู้ร่วมวิจัยกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าต้นไม้เหมาะแก่การนำไปเป็นตัวอย่างวิเคราะห์ระดับมลพิษมากที่สุดเพราะต้นไม้ยืนต้นอยู่กับที่ ดูดซับมลพิษและสารเคมีที่ปะปนอยู่ในอากาศเข้าไปตลอดเวลา แต่ละชั้นของเปลือกไม้จะอยู่ได้นานถึง 5 ปีก่อนจะหลุดลอกออกไป

คุณซัลลาโมว่าหวังว่าในอนาคต วิธีการตรวจวัดหาระดับมลพิษในอากาศด้วยการวิเคราะห์เปลือกไม้จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศกำลังพัฒนา ที่ยังขาดแคลนเงินทุนกับเทคโนโลยีในการตรวจวัดมลพิษในอากาศและยังเหมาะกับพื้นที่ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ด้วย

ด้วยความช่วยเหลือจากเครือข่ายนานาชาติแห่งหนึ่ง ทีมวิจัยได้รับตัวอย่างเปลือกไม้จาก 12 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งนอร์เวย์ สาธารณรัฐเชค อาฟริกาใต้ เนปาล อินโดนีเซีย สหรัฐและแคนาดา

นักวิจัยทำการวิเคราะห์ตัวอย่างเปลือกไม้จากหลายแหล่งในห้องแลปและพบว่าเปลือกไม้จากทั้ง 12 ประเทศทั่วโลกมีสารทนไฟประเภทโบรมีนปะปนอยู่ทั้งหมด นักวิจัยกล่าวว่าไม่แปลกใจที่พบสารทนไฟในปริมาณสูงมากที่สุดในตัวอย่างเปลือกไม้จากแคนาดาและจากจุดต่างๆรอบๆบริเวณทะเลสาปน้ำจืดทั้งห้าของสหรัฐ ที่อยู่ตอนกลางค่อนไปทางเหนือของสหรัฐอเมริกาหรือที่เรียกว่า Great Lakes

แต่นักวิทยาศาสตร์แปลกใจมากที่พบสารทนไฟในระดับหนึ่งในตัวอย่างเปลือกไม้จากพื้นที่ชนบทห่างไกลในอินโดนีเซียและในทาสเมเนีย

คุณไฮท์สกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าน่าแปลกใจเพราะเเทบไม่มีคนอาศัยในพื้นที่เลยและไม่ใช่แหล่งที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมใดๆเลย

ทีมนักวิจัยชี้ว่าการศึกษานี้ช่วยยืนยันได้ว่าสารทนไฟเดินทางไปได้ในระยะไกลจากแหล่งต้นกำเนิดมาก คุณซัลลาโมว่ากล่าวปิดท้ายรายงานจากผู้สื่อข่าววีโอเอว่าเธอจะเดินหน้าศึกษาเรื่องนี้ต่อไปเพื่อสร้างฐานข้อมูลทางดาต้าเบสเกี่ยวกับสารมลพิษชนิดนี้เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานควบคุมและผู้ผลิตเข้าใจถึงผลกระทบในวงกว้างของสารทนไฟประเภทโบรมีนและหาทางกำจัดออกไปจากสิ่งแวดล้อม
XS
SM
MD
LG