ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทำความรู้จัก ‘สปริตซ์’ … เครื่องดื่มค็อกเทลระดับโลกสัญชาติอิตาเลียน


Food-Drinks-Venetian Spritz
Food-Drinks-Venetian Spritz

เครื่องดื่มค็อกเทลสีส้มแดงสดใสคือภาพที่คุ้นตาตามบาร์และภัตตาคารทั่วยุโรป หรือแม้แต่ในภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก โดยหลายคนไม่ทราบมาก่อนว่า เครื่องดื่มยอดนิยมนี้ถือกำเนิดขึ้นในอิตาลี ในฐานะเครื่องดื่มก่อนมื้ออาหาร (aperitif) ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี

“สปริตซ์” คือ ชื่อของเครื่องดื่มยอดนิยมที่มีส่วนผสมหลักเดิมเป็นไวน์นี้ และมีจุดเริ่มต้นมาจากทางภาคเหนือของอิตาลีมาตั้งแต่หลายทศวรรษก่อน โดยมักเสิร์ฟคู่กับ ‘ชิเคตติ’ (cichetti) หรืออาหารเรียกน้ำย่อยสไตล์ชาวเวนิส ตามบาร์ในเมืองท่องเที่ยวชื่อดังแห่งนี้ ก่อนที่จะถูกปรับเปลี่ยนให้มาเป็นไวน์แบบมีฟอง (prosecco) และ digestive bitter ซึ่งทำจากเหล้าผสมเครื่องเทศและผลไม้ และน้ำโซดา ดังเช่นในปัจจุบัน

เอพี ระบุว่า เครื่องดื่มนี้เกิดขึ้นมาในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 1900 (ค.ศ.1830-1860) หรือช่วงของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire) โดยเชื่อกันว่า ชาวออสเตรียกลุ่มหนึ่งไม่ค่อยชอบรสชาติของไวน์ของอิตาลี เพราะรู้สึกว่าแรงไป เลยขอให้บาร์เทนเดอร์เจือจางไวน์ด้วยความซ่าของน้ำโซดาลงไปหน่อย (spritzen ในภาษาเยอรมัน หรือ splash ในภาษาอังกฤษ) จึงกลายมาเป็นจุดกำเนิดของสูตรเครื่องดื่ม “สปริตซ์”

แต่หลังจากนั้น มีผู้ดัดแปลงเติม digestive bitter ลงไป หลังมีผู้คิดค้นเครื่องดื่มรสส้มที่มีความหวาน ที่ชื่อ Aperol ออกมาในปี ค.ศ. 1919 ที่เมืองปาดูอา (Padua) ก่อนจะมีการพัฒนาเครื่องดื่มประเภทเดียวกันที่ชื่อ Select ซึ่งมีสีแดงเข้มออกมาในปี ค.ศ. 1920 และมีผู้นำมาผสมกับ “สปริตซ์” จนได้เครื่องดื่มสีส้มแดงออกมา

รูดี คาร์ราโร แบรนด์แอมบาสเดอร์ (Brand Ambassador) ของ Select อธิบายว่า ในอดีต เมืองเวนิซ เป็นศูนย์กลางการค้าเครื่องเทศหลักของอิตาลี จึง “เป็นเรื่องง่ายดายสำหรับคนสมัยนั้นที่จะเลือกหาเครื่องเทศและสมุนไพรและพฤกษศาสตร์จากทั่วโลก เพื่อสร้างสรรค์สูตร(เครื่องดื่ม)อันสมบูรณ์แบบ ที่ยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงแม้ในปัจจุบัน”

คาร์ราโร บอกว่า ในอดีต เครื่องดื่มก่อนมื้ออาหารในวัฒนธรรมกิน-ดื่มของอิตาลีนั้น เป็นเครื่องดื่มที่ไม่ได้มาจากการผสมใด ๆ “แต่อาจมีการเติมน้ำแข็ง หรือ น้ำโซดา ลงไปเล็กน้อย” จนกระทั่งมาถึงช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1950 ที่มีการนำ aperitif มาเป็นส่วนผสมเครื่องดื่มค็อกเทลและนำมาใช้ในการผสม “สปริตซ์”

ในส่วนของไวน์แบบมีฟอง (prosecco) นั้น คาร์ราโร กล่าวว่า มีคนนำมาแทนไวน์ขาวในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1970 เพื่อให้เครื่องดื่ม “สปริตซ์” มีความใหม่และซ่าขึ้น เพื่อจะดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้มาดื่มกัน

แต่ความนิยมที่ว่านั้นมีอยู่ในเมืองเวนิส จนกระทั่งโลกก้าวเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ ที่เครื่องดื่ม “สปริตซ์” กลายมาปรากฏการณ์ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก

ข้อมูลจากบริษัทวิเคราะห์ตลาดเครื่องดื่ม IWSR ระบุว่า ยอดขายเครื่องดื่มก่อนมื้ออาหารทั่วโลกขยายตัวถึง 26% ในปี 2021 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดย 5 ตลาดชั้นนำของเครื่องดื่มนี้คือ อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี บราซิล และอาร์เจนตินา โดยยอดขายและดื่ม aperitif ใน 5 ตลาดนี้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาด้วย

ที่มา: เอพี

XS
SM
MD
LG