ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ปลา ไก่ เบคอน กับความอร่อยใหม่จากห้องแล็บ


Lab-cultivated salmon o-nigiri
Lab-cultivated salmon o-nigiri

จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น มาพร้อมกับความต้องการอาหารประเภทสัตว์ปีกและอาหารทะเลที่สูงขึ้นตามมา ส่งผลให้บางบริษัทตั้งความหวังที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ผลิตมาจากห้องทดลอง ซึ่งจะมีรสชาติและเนื้อสัมผัสเหมือนกับเนื้อสัตว์ตามธรรมชาติแล้ว

เนื้อปลาแซลมอนที่เกิดจากการนำเซลล์จำนวนเล็กน้อยของปลาแซลมอนมาเพาะเลี้ยงในห้องทดลอง ที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท Wildtype ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย นำเสนอเนื้อปลาที่เหมือนกับปลาที่เลี้ยงในฟาร์มหรือถูกจับมาจากแหล่งธรรมชาติตามปกติ

Lab-cultivated salmon
Lab-cultivated salmon

ทั้งนี้ ความสำเร็จของ Wildtype ในการพัฒนาเนื้อปลานี้เป็นการบรรลุเป้าหมายเพื่อเสริมปริมาณปลาแซลมอนในตลาดที่ลดลง ในขณะที่ความต้องการกำลังเพิ่มสูงขึ้น

Justin Kolbeck, Wildtype Co-founder
Justin Kolbeck, Wildtype Co-founder

จัสติน โคลเบค ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Wildtype ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว วีโอเอ ว่า “เราได้คิดค้นวิธีการสร้างเซลล์ของปลาแซลมอน โดยเลือกส่วนผสมที่มาจากพืชเป็นพื้นฐาน เพื่อช่วยให้เซลล์มีโครงสร้างที่เหมาะสมและเหมือนกับเนื้อสัตว์ที่เราคุ้นเคย”

โคลเบค กล่าวเสริมด้วยว่าว่า แนวคิดของบริษัทนั้นก็คือ การสร้างทางเลือกที่ไม่สร้างแรงกดดันต่อการประมง หรือการพึ่งพาฟาร์มเลี้ยงปลาอย่างหนักเท่านั้นเอง

ทางด้านบริษัท Upside Foods ที่ตั้งอยู่ไม่ห่างจากบริษัทแห่งนี้ ทำการทดสอบรสชาติของเนื้อไก่ที่ถูกเพาะมาจากเซลล์ของไก่ จนได้เนื้อจากห้องทดลองที่มีรูปลักษณ์และรสชาติไม่ต่างจากเนื้อไก่แท้ ๆ เช่นกัน

Amy Chen, Upside Foods
Amy Chen, Upside Foods

เอมี เชน ตัวแทนจากบริษัท Upside Foods อธิบายว่า “สิ่งที่เราพัฒนาได้ เป็นเนื้อสัตว์จริง ๆ ที่มาจากเซลล์ของสัตว์ ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเลี้ยงหรือว่าฆ่าสัตว์ แต่เราก็ยังสามารถมีเนื้อสัตว์ไว้รับประทานอย่างที่ทุกคนชื่นชอบได้”

ในขณะที่จำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความต้องการเนื้อสัตว์และอาหารทะเลที่สูงขึ้นกลายมาเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน

เชน ให้ความเห็นด้วยว่า การที่จะให้ผู้คนได้มีเนื้อสัตว์บริโภคนั้นส่งผลกระทบในหลายมิติ ทั้งเรื่องของภาวะเรือนกระจก การใช้พื้นที่ทำกิน ปริมาณน้ำในการบริโภค อีกทั้งยังมีการฆ่าสัตว์จำนวนนับพันล้านตัวต่อปี ดังนั้น ทางบริษัทจึงรู้สึกตื่นเต้นกับความสำเร็จในการเพาะเนื้อสัตว์ในห้องทดลอง เพื่อเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับผู้บริโภคที่ยังรักการทานเนื้อสัตว์

นอกจากการเพาะเลี้ยงเซลล์จากเนื้อสัตว์ บางบริษัทได้พัฒนาอาหารที่ใช้พืชมาต่อยอดผลิตเป็นอาหารประเภทต่าง ๆ อย่างเช่น ไข่ และเบคอน ด้วย

Eben Bayer, MyForest Foods
Eben Bayer, MyForest Foods

เอเบน เบเยอ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท MyForest Foods เล่าให้ฟังว่า “เบคอนที่ผลิตได้ ทำมาจากกลุ่มของเส้นใยเห็ด (mushroom mycelium) แบบ 100% มีรสชาติและรสสัมผัสที่ไม่ต่างจากเบคอนทั่วไป หรืออาจจะพูดได้ว่า ใช้แทนเบคอนที่ทำจากเนื้อหมูได้อร่อยไม่แพ้กัน”

อย่างไรก็ตาม ริคาโด ซาน มาร์ทีน จากห้องปฏิบัติการ Alternative Meats Lab มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ ให้ทัศนะว่า การที่จะนำผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ไปสู่ตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ น่าที่จะไม่เกิดขึ้นจริงในเวลาอันใกล้ โดยเขาให้เหตุผลว่า ความคุ้มค่าด้านราคายังเป็นประเด็นหลักที่จำกัดกลุ่มผู้บริโภคอยู่

Cooked chicken meat from lab cultivation
Cooked chicken meat from lab cultivation

ทางด้านผู้ผลิตต่างรับทราบถึงปัญหาด้านการขยายตลาดอยู่แล้ว และชี้แจงว่า ในเบื้องต้น ตนต้องการที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ดีออกมาก่อน และเชื่อว่า อาจจะต้องใช้เวลานานหลายปีในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับตลาดเนื้อสัตว์จากห้องทดลองสำหรับคนส่วนใหญ่

ทั้งหมดนี้แม้จะเป็นความก้าวหน้าที่พัฒนาไปอย่างช้า ๆ แต่ในวันหนึ่งข้างหน้า อุตสาหกรรมดังกล่าวอาจจะพลิกโฉมหน้าของการบริโภคสำหรับคนทั่วทั้งโลก

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG