ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้เชี่ยวชาญชี้ ดีลไทยซื้อเรือดำน้ำจีนมุ่งสานสัมพันธ์มากกว่าป้องกันประเทศ


ในขณะที่รัฐบาลไทยกำลังใกล้จะบรรลุสัญญาซื้อเรือดำน้ำที่ผลิตในจีน ซึ่งเป็นข้อตกลงที่เริ่มเจรจามาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว บรรดานักวิเคราะห์กล่าวว่าแรงผลักดันในการทำสัญญาซื้อขายนี้มาจากประเด็นทางการเมืองมากกว่าการทหาร

รัฐบาลไทยภายใต้รัฐบาลนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำข้อตกลงซื้อเรือดำน้ำเครื่องยนต์ดีเซล-ไฟฟ้า คลาสหยวน S26T จำนวน 3 ลำจากจีนเมื่อปี 2017 แต่กลับเผชิญอุปสรรคมากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งระงับไปในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19

เมื่อปลายปีที่แล้ว กระทรวงกลาโหมของไทยภายใต้รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ระบุว่าจะไม่เดินหน้าซื้อเรือดำน้ำจากจีน เนื่องจากปักกิ่งไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์ดีเซลที่ผลิตในเยอรมนีมาใช้กับเรือดำน้ำได้ตามสัญญาที่ทำไว้ ซึ่งเป็นผลจากมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจที่สหภาพยุโรปนำมาใช้กับจีน

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ปีนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สุทิน คลังแสง ประกาศว่า กองทัพเรือไทยได้ตกลงใช้เครื่องยนต์ดีเซล CHD620 ที่ผลิตในประเทศจีนแทนเครื่องยนต์จากเยอรมนีแล้ว ซึ่งทำให้สัญญาซื้อเรือดำน้ำจากจีนกลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง

เบนจามิน ซาวัคกี ผู้เขียนหนังสือ Thailand: Shifting Ground Between the U.S and Rising China กล่าวกับวีโอเอว่า "แม้มีความกังวลเกี่ยวกับเครื่องยนต์ดังกล่าว แต่เงื่อนเวลาของเรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่มีกระแสวิจารณ์รัฐบาลทหารชุดที่แล้วว่า สมควรหรือไม่ที่จะใช้เงินจำนวนมหาศาลในช่วงที่ประเทศกำลังฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19"

ไม่ใช่เรื่องของการป้องกันประเทศเท่านั้น

นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อปี 2014 ไทยและจีนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากขึ้นทั้งทางทหารและเศรษฐกิจ หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ประณามการยึดอำนาจและยกเลิกเงินช่วยเหลือทางการทหารหลายล้านดอลลาร์ที่ให้กับกองทัพไทย

ปัจจุบัน จีนคือคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 135,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้นักท่องเที่ยวจากจีนยังถือเป็นส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยด้วย

โดยระหว่างปี 2016 - 2022 ไทยซื้ออาวุธจากจีนเป็นมูลค่าสูงกว่าที่ซื้อจากสหรัฐฯ อ้างอิงจากรายงานของสถาบันโลวี (Lowy Institute)

แต่เบนจามิน ซาวัคกี ยังคงตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการซื้อเรือดำน้ำโจมตีจากจีน โดยระบุว่า "ไทยมิได้ต้องการเรือดำน้ำ และจีนก็ไม่จำเป็นต้องขายให้ไทย" "เมื่อมองจากมุมด้านความมั่นคง นี่ไม่ใช่ข้อตกลงที่สมเหตุสมผลนักทั้งกับจีนหรือไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงเสียงวิจารณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น"

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญผู้นี้เสริมว่า ข้อตกลงนี้คือ "สัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ทางทหารของสองประเทศ" ที่พัฒนาขึ้นหลังการรัฐประหารเมื่อ 10 ปีก่อน และเชื่อว่าจีนได้พยายามสนับสนุนให้เกิดข้อตกลงนี้อีกครั้ง โดยมีการปรับปรุงบางส่วนให้สอดคล้องกับเงื่อนไขทางการค้าว่าด้วยยุทโธปกรณ์ทางการทหารที่มีการประกาศภายใต้รัฐบาลชุดใหม่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทย สุทิน คลังแสง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทย สุทิน คลังแสง

แรงกดดันจากปักกิ่ง

เกร็ก เรย์มอนด์ แห่งศูนย์ศึกษาด้านยุทธศาสตร์และการทหาร มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australia National University) ชี้ว่า ดูเหมือนเป็นฝ่ายจีนที่พยายามผลักดันการขายเรือดำน้ำให้กับกองทัพไทย และตนไม่เชื่อว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ต้องการ เห็นได้จากที่เคยมีการเสนอให้ซื้อเรือฟริเกตจากจีนแทน "แต่ไม่ว่าแรงกดดันหรือวิธีการไหนที่จีนนำมาใช้ ถือได้ว่าประสบความสำเร็จ"

นักวิชาการผู้นี้กล่าวเสริมด้วยว่า การขยายอิทธิพลทางทหารของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการขายเรือดำน้ำให้ไทยและการส่งเรือรบไปประจำการที่กัมพูชา ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้รัฐบาลกรุงวอชิงตันอยู่ไม่ติด

ขณะที่ ซาวัคกี ผู้เขียนหนังสือ Thailand: Shifting Ground Between the U.S and Rising China กล่าวกับวีโอเอว่า ความกังวลที่สุดของสหรัฐฯ ตอนนี้คือ เรือดำน้ำที่ไทยซื้อจากจีนนั้นจะไปเทียบท่าหรือประจำการอยู่ที่ไหนเป็นหลัก

"จะไปอยู่ที่ฐานทัพเรือสัตหีบที่ซึ่งมีเรือของสหรัฐฯ เทียบท่าอยู่ด้วยหรือไม่? และการที่มีเรือของจีนและของสหรัฐฯ ประจำอยู่ที่ท่าเรือเดียวกันจะเป็นการสร้างความเสี่ยงของการถูกจารกรรมและเก็บรวบรวมข้อมูลสำคัญหรือไม่? นั่นเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ กังวลมากที่สุด" ซาวัคกีกล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังจากเปิดเผยสัญญาซื้อขายเรือดำน้ำฉบับปรับปรุงใหม่นี้เมื่อสองสัปดาห์ก่อน รัฐมนตรีสุทินยืนยันว่ายังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดอื่น ๆ ได้ และยังไม่เปิดโอกาสให้มีการซักถามจนกว่าจะมีการสรุปส่วนอื่น ๆ ของข้อตกลงนี้เสร็จสิ้นเสียก่อน

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG