ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้เกี่ยวข้องเสียงแตก กรณีไทยเตรียมยกเลิกคำสั่งห้ามการรับจ้างอุ้มบุญ


แฟ้มภาพ - การแถลงข่าวกรณีคดีรับจ้างอุ้มบุญของนายมิตสุโตกิ ชิเกตะ เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2557
แฟ้มภาพ - การแถลงข่าวกรณีคดีรับจ้างอุ้มบุญของนายมิตสุโตกิ ชิเกตะ เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2557

หลังมีการประกาศห้ามการรับจ้างตั้งครรภ์ หรือ อุ้มบุญ มาเป็นเวลาเกือบ 1 ทศวรรษอันเนื่องมาจากเหตุการณ์อื้อฉาวมากมายที่ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับกรณีการลักลอบค้ามนุษย์ ทางการไทยมีแผนที่จะทบทวนเรื่องนี้แล้ว ตามรายงานของผู้สื่อข่าววีโอเอ

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ประกาศแผนเสนอร่างกฎหมายใหม่ที่จะทำให้การอุ้มบุญเชิงพาณิชย์ในไทยเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายทั้งสำหรับชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิรูปกฎหมายเพื่อรับมือกับอัตราการเกิดใหม่ที่ลดลงของประเทศ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานก่อนหน้านี้ว่า กระทรวงสาธารณสุขตั้งใจจะนำเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในเดือนนี้ ซึ่งหากทุกอย่างเดินหน้าโดยไม่สะดุด ร่างกฎหมายนี้ก็น่าจะถูกนำเสนอต่อสภาลงมติต่อไปและจะมีผลยกเลิกคำสั่งห้ามการรับจ้างตั้งครรภ์ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2558

เมื่อปี 2557 ประเด็นดังกล่าวกลายมาเป็นเรื่องร้อน หลังสามีภรรยาชาวออสเตรเลียคู่หนึ่งถูกกล่าวหาว่า ทอดทิ้งทารกเพศชายให้กับแม่อุ้มบุญหลังรับทราบว่า เด็กน้อยคนดังกล่าวมีภาวะของดาวน์ซินโดรม และในปีเดียวกันนี้เอง เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมชายชาวญี่ปุ่นที่จ้างคนไทยอุ้มบุญเด็ก 13 คน โดยในเบื้องต้นนั้น ตำรวจสงสัยว่า ชายคนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการค้ามนุษย์ แต่ศาลตัดสินว่า เด็กทั้งหมดเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายมิตสุโตกิ ชิเกตะ ผู้ต้องหาไป

แฟ้มภาพ: ภัทรมน จันทร์บัว และเด็กชาย แกมมี่ เมื่อ 3 ส.ค. 2557
แฟ้มภาพ: ภัทรมน จันทร์บัว และเด็กชาย แกมมี่ เมื่อ 3 ส.ค. 2557

ทั้งนี้ ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน เฉพาะคู่สมรสต่างเพศที่อย่างน้อยมี 1 คนเป็นชาวไทยสามารถจัดหาการทำอุ้มบุญในประเทศไทยได้ โดยผู้อุ้มบุญนั้นต้องเป็นชาวไทยและเป็นสมาชิกในครอบครัวของผู้เป็นสามีหรือภรรยา และต้องไม่มีการคิดค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้ด้วย

วีโอเอ สอบถามไปยังกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขอความเห็นเพิ่มเติมหรือสัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นนี้ แต่ได้รับการปฏิเสธมา

ขณะเดียวกัน นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบคุ้มครองเด็กในคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติและผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิเด็ก บอกกับ วีโอเอ ว่า ตนรู้สึกเป็นกังวลว่า แผนเดินหน้ายกเลิกคำสั่งห้ามการอุ้มบุญเชิงพาณิชย์นั้นเกิดขึ้นจากการที่บรรดาแพทย์ต้องการทำเงินจากการอุ้มบุญ และว่า การทำเช่นนั้นอาจส่งผลเสียต่อระบบสาธารณสุขของไทยเพราะจะทำให้แพทย์และทรัพยากรด้านการแพทย์ไหลออกไปเพื่อจุดประสงค์เชิงพาณิชย์ ซึ่งหมายความว่า ผู้มีฐานะยากจนหรือมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ด้อยกว่าผู้มีความสามารถทางการเงินสูงและต้องการควักเงินเพื่อรับบริการอุ้มบุญ จะไม่มีโอกาสได้รับบริการทางการแพทย์ที่ดีได้อีกเลย

นายสรรพสิทธิ์ยังกลัวด้วยว่า การทำให้การอุ้มบุญเชิงพาณิชย์เป็นเรื่องถูกกฎหมายอาจเปิดประตูไปสู่ปัญหาอื่น ๆ เช่น การล่วงละเมิดต่าง ๆ และการค้ามนุษย์ที่อาจเพิ่มสูงขึ้นได้

อย่างไรก็ดี มายา ลินสตรัม-นิวแมน ผู้อำนวยการด้านนโยบายของกลุ่ม Global Alliance Against Traffic in Women เห็นต่างในเรื่องนี้และบอกกับ วีโอเอ ว่า แม้ความเสี่ยงของการเพิ่มขึ้นของกรณีการค้ามนุษย์เพราะรัฐบาลทำให้การรับจ้างอุ้มบุญถูกกฎหมายจะมีอยู่จริง การสั่งห้ามหรือลงโทษการรับจ้างตั้งครรภ์นั้นไม่ได้ช่วยหยุดยั้งอาชญากรรมดังกล่าวเลย ทั้งยังจะมีแต่ทำให้ติดตามได้ยากขึ้น เพราะขบวนการค้ามนุษย์หันไปทำปฏิบัติการใต้ดินแทน ซึ่งหมายถึง อันตรายที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งต่อแม่และเด็กมากกว่า

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG