ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิเคราะห์ในต่างประเทศให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยและผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ


นาย Ban Ki-moon เลขาธิการองค์การสหประชาชาติได้ให้ความสนใจกับสถานการณ์ในประเทศไทย และเรียกร้องให้มีการเจรจา

ส่วนผู้นำทางธุรกิจและนักเศรษฐศาสตร์ได้มีคำเตือนออกมาว่า ถ้ามีการปิดกั้นยืดเยื้อ ก็อาจก่อผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศได้มากถึง 1.3 พันล้านดอลล่าร์ โดยการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลงอย่างมาก รวมทั้งความวิตกกังวลในเรื่องการลงทุนและการท่องเที่ยว

นักท่องเที่ยว อย่างนาย Jonathan Caskey ซึ่งคนอเมริกัน กล่าวกับผู้สื่อข่าว Voice of America ที่ถนนสุขุมวิทในกรุงเทพมหานครว่า เขาเปลี่ยนแผนเที่ยวเมืองไทย โดยออกไปชายหาดแทนการเที่ยวในเมือง เพราะเชื่อว่าจะเรียบร้อยปลอดภัยดี

ในอีกด้านหนึ่ง สำนักข่าว Bloomberg อ้างคำพูดของนาย Michael Connors รองศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัย Nottingham วิทยาเขต Malaysia ว่าประเทศไทยขาดศูนย์กลางที่เป็นที่เชื่อถือได้ จึงไม่สามารถประนีประนอม ทำความตกลงที่จะยอมรับส่วนประกอบที่เป็นความยุติธรรมของแต่ละฝ่ายได้

สำนักข่าวแห่งเดียวกันนี้ ยังได้อ้างคำกล่าวของนาย Michael Montesano นักวิจัยของสถาบัน Southeast Asian Studies ในสิงคโปร์ ที่ให้ความเห็นไว้ด้วยว่า ถ้ามองตามความเป็นจริงแล้ว การประท้วงไม่มีพลังพอที่จะกดดันให้นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ลาออกจากตำแหน่งได้ และว่า การประท้วงมุ่งจะยั่วยุให้เกิดเหตุวิกฤติขึ้น

ส่วนสำนักข่าว Aljazeera อ้างคำกล่าวของรองศาสตราจารย์ธงชัย วินิจจะกูลของมหาวิทยาลัย Wisconsin วิทยาเขต Madison ที่ว่า ประเทศไทยอยู่ที่หัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ไม่ว่าฝ่ายใดจะชนะ ประเทศประสบการสูญเสีย และประชาธิปไตยก็ประสบการสูญเสียด้วย

ทางด้านเศรษฐกิจ ตัวเลขแสดงผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้า ระบุว่า การประท้วงทำให้เศรษฐกิจสูญเสียได้มากถึงวันละหนึ่งพันล้านบาท และตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย บ่งชี้ว่า การท่องเที่ยวทำรายได้ให้ประเทศราวๆ 10% ของมูลค่ารวมของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเท่ากับ 366 พันล้านดอลล่าร์

สายการบิน Singapore Airlines และ Cathay Pacific ได้ประกาศลดเที่ยวบินเข้ากรุงเทพฯแล้วด้วย

ในขณะเดียวกัน นาย Sacha Tihanyi ของ Scotiabank ในฮ่องกง กล่าวว่า ค่าเงินบาทอาจอ่อนตัวลง และถ้ามีความรุนแรงเกิดขึ้น อาจกระตุ้นให้นักลงทุนขายหลักทรัพย์ไทยเพิ่มขึ้นอีก ทำให้อัตราการโตลดลง และเพิ่มโอกาสความเป็นไปได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย จะต้องผ่อนผันการควบคุมทางการเงินมากขึ้นอีกด้วย

Aljazeera ยังได้อ้างคำกล่าวของรองศาสตราจารย์ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ผู้อำนวยการสถาบันความมั่นคงและนานาชาติศึกษา ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กล่าวว่า ถ้าความชงักงันทางการเมืองยังคงมีอยู่ต่อไป ก็จะมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะมีการแทรกแซงจากข้างนอก ซึ่งรวมถึงทหาร หรือองค์กรอื่นๆ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการปราบปรามคอร์รับชั่น และคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ส่วนนายฌอน บุญประคอง ที่ปรึกษาความมั่นคงของรัฐบาล ตามรายงานของ Aljazeera กล่าวว่า ถ้านายกรัฐมนตรียืนยันไม่ลาออก และการประท้วงไม่ลดลง ทำให้เกิดการชงักงันทางการเมือง และถ้าเกิดความรุนแรงขึ้น โอกาสที่กองทัพจะเข้ามาอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต ก็จะมีมากขึ้น
XS
SM
MD
LG