ลิ้งค์เชื่อมต่อ

บทวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยใน Wall Street Journal ระบุนักลงทุนต่างชาติยังจะสนใจประเทศไทยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของรัฐบาลหลังน้ำท่วม


บทวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยใน Wall Street Journal ระบุนักลงทุนต่างชาติยังจะสนใจประเทศไทยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของรัฐบาลหลังน้ำท่วม
บทวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยใน Wall Street Journal ระบุนักลงทุนต่างชาติยังจะสนใจประเทศไทยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของรัฐบาลหลังน้ำท่วม

บทความในนสพ. Wall Street Journal วิเคราะห์เศรษฐกิจไทย โดยเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจที่กำลังโตในเอเชีย เช่น จีน เวียตนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย และลงความเห็นว่า แม้อัตราการโตของเศรษฐกิจไทยจะยังอยู่ในระดับ 5% ขึ้นไป แต่เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการโตของเศรษฐกิจเหล่านั้นแล้ว นับว่าประเทศไทยยังด้อยกว่ามาก และว่านักลงทุนต่างชาติยังจะสนใจประเทศไทยต่อไปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของรัฐบาลหลังน้ำท่วม

Patrick Barta เขียนบทความลงในนสพ. Wall Street Journal วิเคราะห์เศรษฐกิจไทย โดยเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจที่กำลังโตในเอเชีย เช่น จีน เวียตนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย และลงความเห็นว่า แม้อัตราการโตของเศรษฐกิจไทยจะยังอยู่ในระดับ 5% ขึ้นไปนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 จนกระทั่งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก แต่เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการโตของเศรษฐกิจเหล่านั้นแล้ว นับว่าประเทศไทยยังด้อยกว่ามาก


นักเศรษฐศาสตร์ให้ความเห็นว่า ปัญหาที่ประเทศไทยเผชิญนั้น ส่วนหนึ่งเป็นภัยธรรมชาติ อีกส่วนหนึ่งมาจากการเมือง ส่งท้ายด้วยอุทกภัยในขณะนี้

เหตุการณ์ที่เริ่มต้นมาจากคลื่น Tsunami ในปี ค.ศ. 2004 ตามด้วยการก่อรัฐประหาร และการประท้วงที่มีมาจนกระทั่งถึงปีที่แล้วที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 90 คน ทำให้นักลงทุนชาวต่างชาติเกิดความหวั่นไหว บวกเข้ากับผู้วางนโยบายที่ขาดความสนใจต่อโครงการที่จำเป็นจะต้องทำเพื่อปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับดึงดูดนักลงทุนชาวต่างชาติ

ในปี ค.ศ. 2010 มีเงินลงทุนต่างประเทศเข้าประเทศไทย 5.8 พันล้านดอลล่าร์ ในขณะที่ 13.3 พันล้านดอลล่าร์เข้าไปในอินโดนีเซีย

Patrick Barta ผู้เขียนบทวิเคราะห์ ให้ความเห็นต่อไปว่า การลงทุนจากต่างประเทศที่ประเทศไทยได้รับมาจากบริษัทธุรกิจที่มีกิจการอยู่ในประเทศอยู่แล้ว เช่น บริษัท Ford Motor การลงทุนจากต่างประเทศใหม่ๆ หันไปให้ความสนใจกับเศรษฐกิจที่กำลังโตมากกว่า

ในอีกด้านหนึ่ง นาย Frederic Neumann นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร HSBC ในฮ่องกง กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แรงงานในประเทศไทย ได้ค่าแรงแท้จริงเพิ่มขึ้นน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับแรงงานในอินโดนีเซีย เวียตนาม และจีน

เวลานี้แรงงานจีนในภาคอุตสาหกรรมได้ค่าแรงงานโดยเฉลี่ย 400 ดอลล่าร์ต่อเดือน เทียบกับ 250 ดอลล่าร์ต่อเดือนในประเทศไทย ซึ่งเมื่อ 10-15 ปีที่แล้ว สภาพการณ์กลับกัน

สำหรับอุทกภัยที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้ นอกจากจะทำให้ผู้คนเกือบ 400 คนต้องเสียชีวิตแล้ว อาจทำให้สภาพเศรษฐกิจทรุดโทรมลงมากขึ้นไปอีก

เวลานี้นักเศรษฐศาสตร์ประมาณว่า ความเสียหายจากอุทกภัยอาจเพิ่มขึ้นไปถึง 9.7 พันล้านดอลล่าร์ หรือราวๆสามแสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดกันว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้บ้างในปีหน้า เพราะจะต้องมีการใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อฟื้นฟูบูรณะประเทศ และของบริษัทธุรกิจใหญ่ๆ เช่น Toyota และ Honda ในการซ่อมแซมโรงงาน

นักเศรษฐศาสตร์ Frederic Neumann ของธนาคาร HSBC ในฮ่องกง ให้ความเห็นว่า ความพยายามของรัฐบาลไทยในช่วงหลังน้ำท่วม จะเป็นเครื่องบ่งชี้อนาคตของประเทศ

ถ้ามีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างมั่นคงแน่วแน่ มีการทำความสะอาดถนนหนทาง และการบูรณะและก่อสร้างโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อให้เป็นที่แน่ใจว่า จะไม่มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้อีก น้ำท่วมครั้งนี้ก็จะเป็นเครื่องกระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปและดึงดูดการลงทุนใหม่ๆได้

แต่ถ้าไม่มีการตอบสนองต่อหายนะภัย และเงินทุนละลายหายไปตามช่องทางต่างๆ ในขณะที่รัฐบาลหันไปให้ความสนใจกับนโยบายระยะสั้นแล้วละก็ จะเป็นหนุนเนื่องภาพประทับใจที่มีอยู่แล้วในหมู่นักลงทุนนานาชาติให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า บางทีประเทศไทยอาจจะไม่มีบรรยากาศที่เป็นมิตรกับธุรกิจมากที่สุดอีกต่อไป

XS
SM
MD
LG