ลิ้งค์เชื่อมต่อ

Fitch Rating เตือนว่าการเผชิญหน้าทางการเมืองที่ยืดเยื้ออาจส่งผลด้านลบต่อความมั่นคงทางการเงินและการลงทุนของไทย


นักเศรษฐศาสตร์หลายคนแสดงความกังวลต่อเศรษฐกิจไทย ในช่วงที่กำลังเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ขณะที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน Fitch Rating เตือนว่า การเผชิญหน้าทางการเมืองที่ยืดเยื้อออกไปอาจส่งผลด้านลบต่อความมั่นคงทางการเงินของไทย

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน Fitch Rating มีรายงานเตือนว่า หากความตึงเครียดทางการเมืองในประเทศไทยยืดเยื้อออกไปหรือรุนแรงขึ้น จะเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
Fitch ระบุว่าภาคการผลิตของไทยหดตัวลงในช่วงที่ผ่านมา ยอดขายปลีกสินค้าขยายตัวในอัตราที่ต่ำลง ขณะที่ความมั่นใจของผู้บริโภคและภาคธุรกิจลดลงอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี นับตั้งแต่เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลเมื่อปี พ.ศ 2554

ขณะเดียวกัน ประธานบริษัท Toyota Motor Corp ประจำประเทศไทย นาย Kyoichi Tanada เตือนว่าหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น นักลงทุนต่างชาติอาจเปลี่ยนใจไปลงทุนในประเทศอื่น เช่น เวียดนาม และอินโดนีเซียแทน

Chris Baker นักวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยกล่าวว่า เวลานี้นักลงทุนต่างชาติกำลังกังวลต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปหลังการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ต่างหวั่นเกรงว่าคงจะมีโอกาสน้อยที่จะมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ในเร็ววันนี้ซึ่งสามารถวางนโยบายทางเศรษฐกิจสำคัญๆ ได้

ปัจจุบัน รัฐบาลชั่วคราวของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังถูกกดดันอย่างหนักทางการเงิน เพื่อให้จ่ายเงินค่าจำนำข้าวแก่ชาวนาไทย ซึ่งดูเหมือนรัฐบาลยังไม่สามารถจัดหาเงินก้อนนี้ได้ ขณะเดียวกัน นักลงทุนต่างชาติจำนวนมากได้ถอนหุ้นออกจากตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ช่วงที่เกิดการประท้วงใหม่ๆ ทำให้ดัชนีหุ้นของไทยตกลงราว 10% ก่อนที่จะเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังน่าเป็นห่วง แต่คุณ Andrew McBean จากบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจ Grant Thornton Thailand เชื่อว่าการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ผ่านไปได้อย่างค่อนข้างสงบเรียบร้อยเป็นส่วนใหญ่นั้น ถือเป็นสัญญาณที่ดี Andrew McBean เชื่อว่าหลังจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับภาคธุรกิจเองว่าจะมีกลยุทธ์ในทางปฏิบัติอย่างไร นักวิเคราะห์ผู้นี้ยังระบุด้วยว่าอัตราการเจริญเติบโตของมูลค่าผลผลิตโดยรวมของไทยนั้นยังเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะน้อยกว่าศักยภาพทางเศรษฐกิจที่แท้จริงก็ตาม

ในส่วนของผลกระทบจากการประท้วงที่มีต่อภาคการท่องเที่ยวนั้น เห็นได้ชัดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลหลังจากรัฐบาลประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน และมีการปิดถนนในหลายพื้นที่ ประกอบกับการที่มากกว่า 45 ประเทศได้ประกาศเตือนพลเมืองของตนที่ต้องการเดินทางมาประเทศไทย ทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยประเมินว่าน่าจะสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวเมื่อเดือน ม.ค กว่า 20,000 ล้านบาท

นักเศรษฐศาสตร์บางคนยังกล่าวด้วยว่า การที่ประเทศไทยผ่านเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองมาแล้วหลายครั้ง ทำให้เศรษฐกิจไทยค่อนข้างมีภูมิต้านทานที่แข็งแรงต่อเหตุการณ์ต่างๆ พอสมควร จนชาวต่างชาติจำนวนมากขนานนามว่าเป็น Teflon Thailand ถึงกระนั้นหลายฝ่ายก็เตือนว่าหากความวุ่นวายครั้งล่าสุดนี้ยืดเยื้อออกไปนานเท่าไร ก็ยิ่งต้องใช้เวลาในการกอบกู้ภาพลักษณ์ความเป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยวและนักลงทุน นานขึ้นเท่านั้น

รายงานจาก Ron Corben / เรียบเรียงโดย Songphot Suphaphon
XS
SM
MD
LG