ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ไทยได้อานิสงส์? เมื่อราคาข้าวโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นจากสงครามในยูเครน


FILE - Thai farmers harvest an organic rice-field in Buriram, Thailand, Nov 4, 2016.
FILE - Thai farmers harvest an organic rice-field in Buriram, Thailand, Nov 4, 2016.

ท่ามกลางความกังวลเรื่องปัญหาข้าวสาลีขาดแคลนในตลาดโลกเนื่องจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเชื่อว่า ความต้องการข้าวจะสูงขึ้นมากในปีนี้ ซึ่งจะมีผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

และประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับสามของโลกรองจากอินเดียและเวียดนาม อาจได้รับอานิสงส์จากราคาข้าวที่สูงขึ้น

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย จะได้รับประโยชน์ในฐานะพืชทดแทนของข้าวสาลีที่กำลังขาดแคลนทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรป

ค่าเงินบาทที่อ่อนลงยิ่งทำให้ข้าวที่ไทยส่งออกมีราคาถูกลงโดยเปรียบเทียบ ถึงกระนั้น ยังคงมีความกังวลในหมู่ชาวนาไทยเกี่ยวกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นซึ่งอาจทำให้การเพิ่มปริมาณการผลิตข้าวไม่สามารถทำได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

ประจักษ์ กันทิยา เกษตรกรชาวไทยในจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวกับวีโอเอว่า ต้องการให้รัฐบาลเพิ่มความช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่ช่วยพ่อค้าคนกลาง เพราะเกษตรกรคือผู้ที่ต้องลงเงินและลงแรงมากกว่าพ่อค้าคนกลางเหล่านั้น ทั้งราคาปุ๋ยที่แพงขึ้น และค่าแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งแทบไม่คุ้มกับที่ลงทุนไป

Thai Rice Demand Predicted to Rise as Ukraine War Continues
please wait

No media source currently available

0:00 0:02:18 0:00

รศ.ดร.นิสิต พันธมิตร แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุถึงความจำเป็นของการจัดทำแผนที่ยั่งยืนและการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับชาวนาไทย เพื่อสนับสนุนให้พวกเขาสามารถเพิ่มผลผลิตได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต ไม่ใช่แค่ในช่วงที่กำลังเกิดสงครามในยูเครน

"รายได้ของชาวนาควรเพิ่มขึ้นและต่อเนื่องในระยะยาวด้วย ในขณะที่ในส่วนของผลผลิตนั้น ควรมีการขบคิดว่าจะลดความเสี่ยงและลดต้นทุนในแนวทางที่ยั่งยืนสำหรับการส่งออกในตลาดโลกได้อย่างไร?" รศ.ดร.นิสิต กล่าว

เมื่อเดือนที่แล้ว นายกรัฐมนตรีไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศแผนเจรจากับเวียดนามเรื่องการจับมือกันขึ้นราคาข้าวในตลาดโลก แต่อาจารย์นิสิตตั้งคำถามว่า ใครกันแน่ที่จะได้ประโยชน์จากแผนนี้?

"เรายังไม่สามารถเพิ่มผลผลิตได้ในทันทีหากราคาข้าวเพิ่มสูงขึ้นในวันนี้ ดังนั้นการจะทำให้ได้ผลในระยะยาวจำเป็นต้องมีการรักษาสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานของข้าวให้เหมาะสม" อาจารย์นิสิตกล่าว

ทางด้าน นิพนธ์ บุญมี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวเชียงใหม่ กล่าวกับวีโอเอว่า แม้ราคาข้าวจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ชาวนาไทยก็กำลังเผชิญปัญหาท้าทายเฉพาะหน้าหลายอย่าง เช่น ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งเชื้อเพลิงและปุ๋ย ซึ่งเป็นผลจากสงครามในยูเครน

ในขณะเดียวกัน การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในด้านการเกษตร เพื่อลดต้นทุนของชาวนาไทยก็มีความสำคัญเช่นกัน

นิพนธ์ บุญมี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวเชียงใหม่ กล่าวกับวีโอเอว่า ทางศูนย์ฯ มีโครงการชื่อว่า “Young Smart Farmer” ซึ่งสนับสนุนการนำเทคโนโลยีและวิธีทำการเกษตรแนวใหม่มาใช้ เช่น การใช้โดรนและอุปกรณ์สมัยใหม่ที่ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความสะดวกให้แก่เกษตรกร นอกจากนี้ยังมีโครงการทดสอบผลกระทบของสิ่งแวดล้อมที่มีต่อข้าวสายพันธ์ต่าง ๆ เพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวที่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของชาวนาอย่างคุณประจักษ์ กันทิยา อาจไม่ได้มองไปไกลถึงผลผลิตข้าวในระยะยาว เพราะเขาบอกกับวีโอเอว่า การที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวของไทยสามารถได้ประโยชน์ในระยะสั้นจากการฟื้นตัวหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และการที่ชาวนารับจ้างอย่างพวกเขามีงานทำอีกครั้ง ก็ดูเหมือนว่าจะเพียงพอแล้วสำหรับตอนนี้

  • ที่มา: วีโอเอ

XS
SM
MD
LG