ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ชาวไทยในสหรัฐฯ ชุมนุมคู่ขนาน 19 กันยา เรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์


Thai pro-democracy protesters hold protest in front of the Royal Thai Consulate General New York on September 19, 2020
Thai pro-democracy protesters hold protest in front of the Royal Thai Consulate General New York on September 19, 2020

การประท้วงครั้งใหญ่ในวันที่ 19 กันยายน อันเป็นวันครบรอบ 14 ปีรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ได้ “ยกระดับเพดาน” การปราศรัยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ไปอีกขั้นทั้งในไทยและการประท้วงคู่ขนานในหลายเมืองทั่วโลก รวมทั้งในนครลอสแอนเจลิสและมหานครนิวยอร์กของสหรัฐฯ ที่ผู้ประท้วงให้ความสำคัญกับประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์


ที่นครลอสแอนเจลิส กลุ่มที่เรียกตนเองว่า Red USA ราว 80 คน จัดขบวนรถ 56 คัน ขับเป็นริ้วขบวนในพื้นที่ของเมือง เมื่อวันที่ 18 กันยายน ล่วงหน้าก่อนการประท้วงที่ไทยหนึ่งวัน พร้อมออกแถลงการณ์ “ไม่ยอมรับการดำรงอยู่เหนือกฎหมายของสถาบันใดๆ รวมทั้งสถาบันกษัตริย์” กล่าวถึงปัญหาของระบบการปกครองในไทยที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดสรรเข้าถึงทรัพยากรอย่างเป็นธรรม

A motorcade organized by self-titled political movement Red USA procesees in Los Angeles on September 18, 2020, in parallel with pro-democracy protest held a day after in Thailand
A motorcade organized by self-titled political movement Red USA procesees in Los Angeles on September 18, 2020, in parallel with pro-democracy protest held a day after in Thailand


ทางด้านมหานครนิวยอร์ก กลุ่มผู้ชุมนุมราวสามสิบคนจัดประท้วงภายใต้ชื่อ #นิวยอร์กจะไม่ทน ที่หน้าสถานกงสุลใหญ่ ในแมนฮัตตัน เมื่อวันที่ 19 กันยายนตามเวลาท้องถิ่น มีการทำกิจกรรมศิลปะเชิงสัญลักษณ์ เช่น การสาดสีตามลำตัวหนึ่งในผู้ประท้วง เพื่อสื่อถึง “การใส่ร้ายป้ายสี” ต่อผู้ลี้ภัยการเมืองที่ พวกเขาเชื่อว่าบางคนถูกอุ้มหายหรือถูกฆาตกรรม กลุ่มคนไทยในนิวยอร์กที่มาชุมนุมยังเห็นว่า รัฐไทยไม่สนใจสืบสวนและติดตามการหายไปของบุคคลเหล่านั้น


การประท้วงที่นิวยอร์กยังเน้นประเด็นที่ล้อไปกับการประท้วงที่ไทย เช่น การเรียกร้องให้มีการยุบสภาเพื่อหยุดการสืบทอดอำนาจ เรียกร้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่ นัชชชา กองอุดม ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยและแกนนำการจัดประท้วงง#นิวยอร์กจะไม่ทน บอกกับวีโอเอไทยว่า “ต้องแก้ไขอย่างยิ่ง ไม่ให้กษัตริย์เป็นเรื่องไกลตัว ประชาชนจับต้องไม่ได้” เช่น ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบันที่ไม่ให้ผู้ใดกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ยกเลิก พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และให้นิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไข

Thai self-exiled refugee Nachacha Kongudom participates in symbolic art performance to call for justice for forced disapperances of Thai activists during a protest in front of Royal Thai Consulate General New York on September 19, 2020
Thai self-exiled refugee Nachacha Kongudom participates in symbolic art performance to call for justice for forced disapperances of Thai activists during a protest in front of Royal Thai Consulate General New York on September 19, 2020

การประท้วงทั้งสองเมืองใหญ่เป็นไปอย่างเรียบร้อย แม้ที่นครนิวยอร์ก จะมีคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่ออกมาแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จัดการประท้วงในบริเวณเดียวกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ก็ตาม โดยสถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก ได้สังเกตการณ์เนื่องจากการประท้วงเกิดขึ้นในบริเวณสถานที่ราชการไทย และประสานงานกับทางตำรวจนครนิวยอร์กตามธรรมเนียมปฏิบัติปกติ

“การชุมนุมสามารถกระทำได้ภายใต้ขอบเขตเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตราบใดที่ยังอยู่ในกรอบกฎหมายท้องถิ่น และเคารพสิทธิของผู้อื่นในการเดินทางและสัญจรผ่านในช่วงที่มีการชุมนุม รวมทั้งหากไม่ไปกระทบความรู้สึกและความเห็นของคนไทย” สถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก กล่าวกับวีโอเอไทยทางอีเมลก่อนที่จะมีการประท้วง

ในประเด็นข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ นัชชชาเห็นว่า ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สถาบันควรอยู่เหนือการเมืองและถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้


“เรานำเรื่องกษัตริย์มาพูดเปิดเผย ไม่มีการทำกิจกรรมลับหลัง พยายามเอาเรื่องนี้มาพูดให้เข้าสู่สาธารณชนมากขึ้น ก่อนหน้านี้ไม่มีใครกล้าแตะสถาบันกษัตริย์ นักกิจกรรมก็ไม่กล้าพูด” นัชชชากล่าวกับทางวีโอเอไทย

Thai pro-democracy protesters produce art piece as part of protest in front of the Royal Thai Consulate General New York on September 19, 2020
Thai pro-democracy protesters produce art piece as part of protest in front of the Royal Thai Consulate General New York on September 19, 2020

นัชชชา ผู้อาศัยในสหรัฐฯ มาแล้วสองปี และได้รับสถานะผู้ลี้ภัยหลังจากเธอเผชิญคดีในศาลทหารไทยอันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมือง เห็นว่า ปัจจัยหลายประการ รวมทั้งการบริหารงานของรัฐบาลปัจจุบัน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้คนกล้าออกมาแสดงความเห็นกันอย่างเปิดเผยมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วง 5-6 ปีก่อนที่ตัวเธอเริ่มกิจกรรมทางการเมือง

แม้ตัวเธอจะไม่หวังว่าการชุมนุมที่นครนิวยอร์กครั้งนี้จะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวหลักในไทย เพราะเป็นเพียงการชุมนุมเพื่อแสดงการสนับสนุนเท่านั้น แต่เธอก็หวังว่าการประท้วงในครั้งนี้จะช่วยตอกย้ำความต้องการของผู้ชุมนุมในไทย

ทางด้านประจวบ เจริญสุข โฆษกและหัวหน้าฝ่ายต่างประเทศของกลุ่ม RED USA แห่งนครลอสแอนเจลิส กล่าวกับวีโอเอไทยว่า ตัวเขายังคาดหวังเห็นกษัตริย์ไทยสร้างความชอบธรรมมากขึ้น มีการจัดสรรทรัพยากรอย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำในประเทศ

“กษัตริย์ต้องมีความรับผิดชอบทางคุณธรรม เป็นหน้าที่รับผิดชอบว่าประชาชนต้องอยู่เย็นเป็นสุข...ถ้าประเทศมีปัญหาว่าคนกลุ่มหนึ่งถูกรังแก อีกกลุ่มได้สิทธิพิเศษ ก็ไม่ยุติธรรม” ประจวบกล่าว

Prachuab Charoensuk, Red USA Spokesperson and Executive Director of Foreign Affairs
Prachuab Charoensuk, Red USA Spokesperson and Executive Director of Foreign Affairs

ประจวบ ผู้อาศัยอยู่ในต่างประเทศมาราว 54 ปี และอยู่ในแวดวง “คนเสื้อแดงในต่างแดน” มาสิบกว่าปี เห็นว่า การประท้วงในปัจจุบันนั้น ผู้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากกว่า ข้อมูลไม่ถูกผูกขาดโดยอำนาจรัฐมากเท่าสมัยก่อน รวมถึงมีแรงขับเคลื่อนของผู้คนในยุคปัจจุบันที่เห็นถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต ได้ค้นคว้าประวัติศาสตร์มากขึ้น ประกอบกับสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่ทำให้ผู้คนรู้สึกถูกกดดันจากรัฐมากเกินไป

เขายังหวังด้วยว่าการประท้วงครั้งนี้จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งประจวบเองเป็นผู้หนึ่งที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผย

“มาตรา 112 เป็นกฎหมายที่ผมเห็นว่าไม่มีความสมดุล คนที่ฟ้องคุณคือใครก็ได้ ว่าคนคนนี้ดูถูกดูแคลนในหลวง คนถูกจับไม่มีสิทธิ์ซักถามพยาน เป็นกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม...ถ้าไม่แก้ไข ความเสียหายต่อพระมหากษัตริย์จะมีมากขึ้น” ประจวบกล่าว

ทั้งนี้ผู้สนับสนุนเรื่องการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์เห็นว่า รัฐธรรมนูญควรให้ความคุ้มครองสถาบันฯ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักหนึ่งของชาติและวัฒนธรรม และมาตรา 112 เปรียบเทียบได้กับกฎหมายหมิ่นประมาทสำหรับบุคคลธรรมดาแต่มีไว้สำหรับพระบรมศานุวงศ์ชั้นสูง ในกรณีที่ตกเป็นผู้เสียหายจากการหมิ่นประมาท

XS
SM
MD
LG