ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ที่ปรึกษานายกฯ เตรียมยื่น 1.2 ล้านรายชื่อ ขอขับ “แอมเนสตี้” ออกจากไทย 


Amnesty International activists hold posters during a gathering front of Bangkwan Central Prison Bangkok, Thailand, Tuesday, June 19, 2018. Thailand carried out its first execution in nine years, putting to death a man who killed a teenager for his mobile
Amnesty International activists hold posters during a gathering front of Bangkwan Central Prison Bangkok, Thailand, Tuesday, June 19, 2018. Thailand carried out its first execution in nine years, putting to death a man who killed a teenager for his mobile

เมื่อวันศุกร์ นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ระบุว่า เขาเตรียมยื่นเรื่องขอเพิกถอนองค์กรสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกจากไทย หลังกลุ่มผู้จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์กล่าวว่า องค์กรดังกล่าวบั่นทอนความมั่นคงของชาติ ตามรายงานของรอยเตอร์

นายเสกสกลระบุว่า เขารวบรวมรายชื่อต่อต้านแอมเนสตี้ได้แล้ว 1.2 ล้านรายชื่อ และจะส่งรายชื่อดังกล่าวให้กับสภาความมั่นคงแห่งชาติและกระทรวงมหาดไทยภายในอีกหนึ่งสัปดาห์

กลุ่มผู้จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์อ้างว่า องค์กรสิทธิมนุษยชนดังกล่าวยั่วยุให้เกิดความไม่สงบ โดยเรียกร้องให้มีการยุติการแจ้งข้อหาคดีอาญาต่อผู้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันที่ชาวไทยให้ความเคารพอย่างสูง

นายเสกสกลกล่าวกับรอยเตอร์ว่า แอมเนสตี้ทำลายความมั่นคงของประเทศ สนับสนุนกลุ่มที่ต้องการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ ไม่มีความเป็นกลาง และเข้าข้างกลุ่มต่อต้านรัฐบาลและต่อต้านการปกครองโดยประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เมื่อเดือนพฤศจิกายน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งให้มีการตรวจสอบแอมเนสตี้ อย่างไรก็ตาม พลเอกประยุทธ์ยังไม่แสดงความเห็นต่อการรวบรวมรายชื่อเพิกถอนองค์กรดังกลาว

เมื่อวันศุกร์ แอมเนสตี้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามข้อผูกพันด้านสิทธิมนุษยชน โดยระบุว่า ขณะที่ทางองค์กรรับทราบว่ารัฐบาลไทยมีหน้าที่ปกป้องความสงบเรียบร้อบและความมั่นคงแห่งชาติ แต่รัฐบาลไทยจะต้องปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวในทางที่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ชาวไทยจำนวนมากเคารพสักการะสถาบันกษัตริย์ และมองว่าการท้าทายกับสถาบันกษัตริย์เป็นภัยต่อสังคม รอยเตอร์ระบุ

อย่างไรก็ตาม การประท้วงที่นำโดยเยาวชนต่อต้านรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์เมื่อปีพ.ศ. 2563 ที่มีผู้เข้าร่วมชุมนุมตจำนวนมาก ได้มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จนนำไปสู่การจับกุมและดำเนินคดีแกนนำและผู้ร่วมประท้วง

นักกิจกรรมกว่า 1,700 คนถูกตั้งข้อหาที่เกี่ยวกับความมั่นคง และมีอย่างน้อย 169 คนที่ถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี

ทั้งนี้ การยื่นรายชื่อเพิกถอนแอมเนสตี้ของนายเสกสกล เกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่รัฐบาลไทยเตรียมผ่านกฎหมายควบคุมองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งถูกต่อต้านจากองค์กรท้องถิ่นและองค์กรสากลกว่า 1,000 แห่ง โดยองค์กรเหล่านี้ระบุว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นภัยคุกคามต่อภาคประชาสังคม

  • ที่มา: รอยเตอร์
XS
SM
MD
LG