ลิ้งค์เชื่อมต่อ

บลูมเบิร์กเผย รบ.ไทยเล็งหาทางกระชับอำนาจ ‘แบงก์ชาติ’ มากขึ้น


สัญลักษณ์ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กรุงเทพมหานคร (ที่มา: Reuters)
สัญลักษณ์ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กรุงเทพมหานคร (ที่มา: Reuters)

แหล่งข่าวเปิดเผยกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทย กำลังหารือถึงวิธีการที่จะควบคุมธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มากขึ้น สืบเนื่องจากวิวาทะเกี่ยวกับนโยบายเรื่องเศรษฐกิจหลายครั้งก่อนหน้านี้

ข้อมูลที่บลูมเบิร์กได้รับจากแหล่งข่าวที่ทราบเรื่องนี้ พบว่าหนึ่งในมาตรการที่ถูกพูดถึงคือการนำคนที่มีสายสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทยเข้าไปนั่งเป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งแม้ตำแหน่งนี้จะไม่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายทางการเงิน แต่ก็สามารถประเมินการทำงานของผู้ว่าการ ธปท. รวมถึงสามารถให้ความเห็นในคณะกรรมการนโยบายการเงินได้

แหล่งข่าวระบุว่า ชื่อที่มีการพูดถึงในการหารือได้แก่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษานายกฯ และเป็นผู้มีความเห็นในทางวิพากษ์วิจารณ์ ธปท. และนายศุภวุฒิ สายเชื้อ อดีตที่ปรึกษาของพรรคเพื่อไทย ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งตามมติคณะรัฐมนตรีในเดือนกุมภาพันธ์ เป็นประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)

นายปรเมธี วิมลศิริ ประธานกรรมการ ธปท. คนปัจจุบัน กำลังจะสิ้นสุดวาระดำรงตำแหน่งในเดือนกันยายน หลังได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งเป็นรัฐบาลเดียวกันที่แต่งตั้ง นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ เป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติคนปัจจุบัน ที่จะดำรงตำแหน่งครบวาระในเดือนกันยายนปี 2568

แหล่งข่าวเผยกับบลูมเบิร์กว่า รัฐบาลจะผลักดันผู้ว่าฯ ธปท. คนใหม่ที่มีวิสัยทัศน์ในทางเดียวกับรัฐบาล และรัฐบาลสามารถมีบทบาทในการทำเช่นนั้นผ่านรัฐมนตรีกระทรวงการคลังที่จะเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการเฟ้นหาผู้ที่มีความเหมาะสม

นายชัย วัชรงค์ โฆษกรัฐบาล กล่าวว่าไม่สามารถให้ความเห็นเรื่องนี้ได้ เนื่องจากไม่ทราบถึงความเคลื่อนไหวดังกล่าว ด้านผู้แทนจาก ธปท.ปฏิเสธที่จะให้ความเห็น ส่วนนายกิตติรัตน์และนายศุภวุฒิ ผู้ถูกกล่าวถึง ไม่ได้ตอบรับการขอความเห็นในช่วงเวลาที่รายงานข่าวนี้

ความพยายามเข้ามามีอิทธิพลต่อแบงก์ชาติมากขึ้น เกิดขึ้นหลังจากความเห็นต่างหลายครั้งระหว่างนายกฯ และธนาคารแห่งประเทศไทยในแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศที่เติบโตเฉลี่ยปีละ 1.9% ในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าช้ากว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ซึ่งรัฐบาลมีความเห็นว่าควรลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อให้เอื้อต่อการบริโภคและการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่แบงก์ชาติเห็นด้วยกับแนวทางการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจมากกว่า

ความเห็นต่างดังกล่าวนำไปสู่ถ้อยแถลงของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย บุตรสาวของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่บอกว่า ธปท. เป็น "อุปสรรค" ต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

ไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เรียกร้องให้มีการทบทวนเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. โดยระบุว่าควรให้เป้าหมายสะท้อนกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจปัจจุบัน โดยแหล่งข่าวระบุว่าท่าทีดังกล่าวถือเป็นการกดดันให้ ธปท. ปรับนโยบายการเงิน

การปะทะกันระหว่าง ธปท. และพรรครัฐบาลที่เชื่อมโยงกับนายทักษิณเคยเกิดขึ้นแล้วก่อนหน้านี้เมื่อปี 2544 เมื่อนายทักษิณไล่ผู้ว่าการ ธปท. ที่ไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยตามคำขอ และในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในปี 2556 นายกิตติรัตน์ที่ดำรงตำแหน่ง รมว. คลัง ในช่วงนั้นก็เคยกดดันอย่างเปิดเผยไปยังนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ในยุคนั้น จากกรณีการลดอัตราดอกเบี้ย

วิชนุ วารธาน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เอเชีย ธนาคารมิซูโฮ ในสิงคโปร์ กล่าวว่า การมีอิทธิพลเหนือแบงก์ชาติ จะทำให้รัฐบาลไทยเสียความได้เปรียบในระยะยาวที่มีอยู่ ในแง่ของระยะห่างระหว่างฝ่ายบริหาร และการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยของ ธปท.

  • ที่มา: บลูมเบิร์ก

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG