ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รายงานพิเศษภาพรวมเศรษฐกิจไทยและปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย


รายงานพิเศษภาพรวมเศรษฐกิจไทยและปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย
รายงานพิเศษภาพรวมเศรษฐกิจไทยและปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS ได้จัดอภิปรายเรื่องภาพรวมเศรษฐกิจไทย และได้เชิญผู้บรรยายชาวไทย 3 ท่าน ได้แก่ ดร.กิริฎา เภาวิจิตร เศรษฐกรอาวุโสของธนาคารโลก นายธวัชชัย โสภาเสถียรพงศ์ เอกอัครราชฑูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก และนายราเชนทร์ พจนสุนทร รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ มาบรรยายถึงภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้า ตลอดจนปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้ผู้สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศฟังที่ห้องประชุมอาคาร CSIS ในกรุงวอชิงตัน

คุณ Ernest Z. Bower ที่ปรึกษาอาวุโสและ ผอ.โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Center for Strategic and International Studies (CSIS) กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมอภิปรายในหัวข้อภาพรวมเศรษฐกิจไทย และได้แนะนำผู้บรรยายทั้ง 3 ท่าน โดยในช่วงแรก ดร.กิริฎา เภาวิจิตร เศรษฐกรอาวุโสของธนาคารโลก ได้บรรยายถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่าเติบโตสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยภาคการส่งออกยังเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจไทยดังเช่นที่ผ่านมา

ดร.กิริฎาชี้ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตราว 7.5% และจะลดลงอยู่ที่ระดับ 3.2% ในปีหน้า ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกรอาวุโสของธนาคารโลกยังกล่าวด้วยว่าราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ภาคการส่งออกของไทยขยายตัว ในขณะที่ปริมาณการส่งออกมิได้แตกต่างจากปีที่แล้วมากนัก และว่าการที่เงินบาทกำลังลดค่าลงจะช่วยกระตุ้นภาคการส่งออกไทยได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ดร.กิริฎายังกล่าวถึงการพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันของไทยผ่านการพัฒนาการลงทุนภาคเอกชน พัฒนาทักษะแรงงานระดับสูงและเร่งการเติบโตของภาคบริการ

จากนั้น เอกอัครราชฑูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก นายธวัชชัย โสภาเสถียรพงศ์ ได้บรรยายถึงความสำคัญของการเจรจาการค้าต่างๆที่ไทยเข้าร่วม โดยเฉพาะการเจรจาการค้ารอบโดฮาที่เริ่มมาตั้งแต่ 9 ปีที่แล้ว และจนถึงขณะนี้ยังไม่สำเร็จลุล่วง เอกอัครราชฑูตธวัชชัยระบุว่าอุปสรรคสำคัญของการเจรจาการค้ารอบโดฮาคือประเทศต่างๆพยายามคุ้มครองภาคอุตสาหกรรมและการเกษตรในประเทศตน และว่าภายในปีหน้า น่าจะมีข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรในเรื่องนี้ ผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกบอกว่าหากการเจรจาการค้ารอบโดฮาไม่ลุล่วงภายในเดือนธันวาคมปีหน้า ก็คงต้องโบกมือลาข้อตกลงการค้าฉบับนี้กันได้เลย

สำหรับผู้บรรยายคนสุดท้ายในการอภิปรายครั้งนี้ คือรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายราเชนทร์ พจนสุนทร ซึ่งอธิบายถึงบทบาทของข้อตกลงเสรีการค้าที่ไทยทำกับประเทศต่างๆรวม 16 ฉบับในการกระตุ้นการส่งออก และยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการค้าในแถบอาเซียนและจีน รวมถึงการจัดตั้งเขตการค้าเสรี ASEAN Economic Community หรือ AEC ที่วางเป้าหมายไว้ว่าสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศจะเข้าร่วมได้อย่างสมบูรณ์ภายในช่วง 5 ปี

รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ระบุว่าขั้นตอนการเข้าร่วม AEC นี้แบ่งเป็น 2 ช่วง โดย 6 ประเทศแรก ได้แก่ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และบรูไนได้ยกเลิกภาษีสินค้านำเข้าระหว่างกันทั้งหมดแล้วในปีนี้ ในขณะที่กัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม จะยกเลิกภาษีสินค้านำเข้าระหว่างประเทศ AEC ทั้งหมดภายในปี คศ.2015

นายราเชนทร์บอกว่าในอนาคตอันใกล้ ประเทศในอาเซียนจะยังคงเป็นกลุ่มแรกที่ทรงความสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศของไทยมากที่สุด รองลงมาคือกลุ่มอาเซียนบวก 6 ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ นอกจากนี้ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ไทยยังชี้ด้วยว่านโยบายทางการค้าของไทยในปีหน้าจะมุ่งเน้นที่การส่งเสริมสนับสนุนให้บริษัทไทยไปลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียน

XS
SM
MD
LG