ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้เชี่ยวชาญมอง อิทธิพลจีนต่อกองทัพไทยอาจถูกสกัด หาก ‘แทมมี่ ดักเวิร์ธ’ ได้เป็นรอง ปธน.


FILE - Sen. Tammy Duckworth, D-Ill. arrives for a closed-door Democratic policy luncheon on Capitol Hill in Washington.
FILE - Sen. Tammy Duckworth, D-Ill. arrives for a closed-door Democratic policy luncheon on Capitol Hill in Washington.
please wait

No media source currently available

0:00 0:05:04 0:00

ในขณะที่ โจ ไบเดน ตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต กำลังเฟ้นหาผู้ลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีเคียงคู่กับเขา ชื่อของ พันโทหญิง ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ เชื้อสายไทย จากรัฐอิลลินอยส์ ก็ได้รับความสนใจจากสื่ออเมริกันยักษ์ใหญ่ในฐานะหนึ่งในตัวเต็ง โดยนักวิเคราะห์มองว่า หากแทมมีได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวจริง อาจเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่าง ไทย จีน และสหรัฐฯ ได้

สื่อนิวยอร์กไทมส์เผยแพร่รายงานข่าวและบทวิเคราะห์คุณสมบัติของเธออย่างน้อยสามครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า แม้แทมมีจะไม่ได้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไบเดน แต่ทีมงานของของเขาก็ค่อนข้างจริงจังกับเธอ โดยได้ทำการสัมภาษณ์เธอและขอให้แทมมีส่งเอกสารตรวจสอบประวัติแล้ว

บทบาทของพันโทหญิงผู้ผ่านสงครามอิรักจนสูญเสียขาทั้งสองข้างในปี 2547 ผู้นี้ โดดเด่นในด้านการทำงานเพื่อสิทธิของทหารผ่านศึกและครอบครัว รวมถึงด้านนโยบายคุ้มครองคนพิการ

และหากพูดถึงบทบาทด้านการทหารที่เกี่ยวข้องกับไทยนั้น เมื่อวันที่ 25 ก.พ. แทมมี ในฐานะกรรมาธิการกิจการทหาร วุฒิสภาสหรัฐฯ ก็ได้เข้าร่วมต้อนรับ พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกของไทย ในฐานะแขกของกองทัพบกสหรัฐฯ ที่กรุงวอชิงตัน

Senator Duckworth Meets with U.S. Army Secretary Ryan McCarthy and General Apirat Kongsompong, Commander in Chief of the Royal Thai Army during his official visit in Washington, DC. Feb 25, 2020. (Courtesy Senator Tammy Dukworth)
Senator Duckworth Meets with U.S. Army Secretary Ryan McCarthy and General Apirat Kongsompong, Commander in Chief of the Royal Thai Army during his official visit in Washington, DC. Feb 25, 2020. (Courtesy Senator Tammy Dukworth)

ในครั้งนั้น แทมมีได้กล่าวว่า "ในฐานะลูกครึ่งไทย-สหรัฐฯ มีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะต้องสานต่อและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯให้แข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดว่าภูมิภาคอินโด-แปซิฟิคนั้นมีความสำคัญต่อกิจการของสหรัฐฯ และสหรัฐฯควรที่จะมุ่งสนับสนุนพันธมิตรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มากขึ้น”

แทมมีเคยได้พบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยมาหลายคน ทั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย เมื่อปี 2562 เมื่อครั้งที่เธอเยือนประเทศไทยพร้อมคณะตัวแทนจากรัฐสภาสหรัฐฯ และเมื่อปี 2556 แทมมี ในฐานะแขกของกระทรวงต่างประเทศไทย ก็เข้าพบยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ไทยในขณะนั้น

พอล แชมเบอร์ส อาจารย์ประจำศูนย์ประชาคมอาเซียนศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวกับวีโอเอไทยว่า ในฐานะนักการเมืองอเมริกัน แทมมีไม่ได้แสดงจุดยืนต่อขั้วการเมืองใดในไทยอย่างชัดเจน และบทบาททางการทหารของเธอก็อาจทำให้ความสัมพันธ์กองทัพไทย-สหรัฐฯ แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น หากเธอได้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี

ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัวอย่างเป็นทางการเมื่อไทยมีการเลือกตั้งทั่วไปใน 2562 โดยสหรัฐฯ เคยลดเงินช่วยเหลือด้านการทหารหลังไทยมีการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 จนกองทัพไทยหันไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากประเทศจีนมากขึ้น

อาจารย์พอล มองว่า จุดยืนด้านการต่างประเทศโดยเฉพาะต่อจีนของแทมมี เห็นได้จากการที่เธอเป็นหนึ่งในวุฒิสมาชิกที่ผลักดันกฎหมายบทลงโทษในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออกเมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดบทลงโทษต่อกิจกรรมบางประการของจีนในเขตน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาทดังกล่าว โดยหากแทมมีได้เป็นผู้ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี และพรรคเดโมแครตชนะการเลือกตั้ง เธอในฐานะรองประธานาธิบดี อาจมีบทบาทในการสกัดกั้นอิทธิพลของจีนต่อกองทัพไทยมากขึ้น

Senate Babies
Senate Babies



ทั้งนี้ ประวัติชีวิตส่วนตัวและการทำงานของแทมมีถือว่าโดดเด่น ทั้งการเป็นทหารหญิงผ่านสงครามอิรัก การเป็นวุฒิสมาชิกคนแรกที่ให้กำเนิดบุตรในขณะดำรงตำแหน่ง และยังเคยพาลูกสาววัยแรกเกิดเข้าร่วมการโหวตในสภา และหากเธอได้เป็นตัวแทนพรรคลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี เธอจะเป็นทหารผ่านศึกหญิงคนแรก ชาวเอเชียนอเมริกันคนแรก และหญิงผิวสีคนแรกจากพรรคใหญ่ที่ได้ลงชิงตำแหน่งระดับชาติอีกด้วย

แทมมียังเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกรมกิจการทหารผ่านศึกรัฐอิลลินอยส์เมื่อปี 2549-2552 ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงกิจการทหารผ่านศึกสหรัฐฯ เมื่อปี 2552 -2554 ก่อนจะเข้าสู่สภาด้วยการเป็น ส.ส. สหรัฐฯ สองสมัยจากเขต 8 รัฐอิลลินอยส์เมื่อปี 2556-2560 และเป็นวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ จากรัฐอิลลินอยส์ตั้งแต่ปี 2560

ทางด้านจุดยืนทางการเมืองนั้น นิวยอร์กไทมส์วิเคราะห์ว่า แทมมีมีความเป็น “ซ้ายกลาง” ซึ่งแม้อาจไม่ทำให้เธอโดดเด่นในนโยบายสายก้าวหน้า แต่ก็เป็นจุดร่วมระหว่างเธอกับไบเดน และอาจช่วยให้เธอดึงคะแนนจากฐานเสียงสายกลางได้เมื่อเทียบกับตัวเต็งคนอื่นๆ เช่น วุฒิสมาชิกอลิซาเบธ วอร์เรนที่เป็นหัวก้าวหน้าชัดเจนแต่ก็มีอายุถึง 71 ปี เมื่อเทียบกับแทมมีที่มีอายุเพียง 52 ปี หรือวุฒิสมาชิกคามาลา แฮร์ริส ที่ต่อสู้กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์อย่างจริงจังแต่กลับไม่ได้รับความนิยมจากกลุ่มฐานเสียงอเมริกันผิวดำเท่าที่ควร

FILE - Sen. Tammy Duckworth, D-Ill., speaks on Capitol Hill, in Washington, Feb. 14, 2018.
FILE - Sen. Tammy Duckworth, D-Ill., speaks on Capitol Hill, in Washington, Feb. 14, 2018.

อย่างไรก็ตาม นิวยอร์กไทมส์ก็วิเคราะห์ถึงจุดอ่อนของแทมมีด้วยเช่นกัน อาทิเช่น ไม่ได้มีบทบาทโดดเด่นในประเด็นที่จะเป็นนโยบายหาเสียงสำคัญ เช่น เศรษฐกิจหรือกิจการตำรวจ เป็นนักการเมืองจากรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งเป็นรัฐที่เป็นฐานเสียงแข็งของพรรคเดโมแครตอยูู่แล้ว โดยส่วนใหญ่ผู้ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีจะมาจากรัฐที่มีฐานคะแนนเสียงแกว่ง (swing state) และเธอยังไม่ได้เป็นชาวอเมริกันผิวดำ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนคะแนนให้ไบเดนได้ จากกระแสที่ชาวอเมริกันกำลังให้ความสำคัญต่อการเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นระบบจากกรณีการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ในประเด็นนี้เอง อาจารย์พอลก็เห็นด้วยว่า แม้แทมมีจะมีคุณสมบัติที่โดดเด่นหลายประการ แต่ท้ายที่สุดแล้วอาจไม่ใช่ “ผู้ถูกเลือก” จากไบเดน ที่อาจต้องการรองประธานาธิบดีที่เป็นคนผิวดำหรือฮิสแปนิค เพื่อดึงคะแนนจากกลุ่มฐานเสียงดังกล่าว ซึ่งมีจำนวนมากกว่าชาวเอเชียนอเมริกัน


รายงานโดย วรรษมน อุจจรินทร์ VOA Thai

XS
SM
MD
LG