ลิ้งค์เชื่อมต่อ

จับตานัยทางการเมือง กรณีจีนค้าน 'ไต้หวัน' ร่วมประชุมองค์การอนามัยโลก


Taiwan protest WHO over name change press event.
Taiwan protest WHO over name change press event.

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ไต้หวันควรใช้ความล้มเหลวในการขอเข้าร่วมการประชุมประจำปีขององค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO) ให้เป็นโอกาสในการระดมเเรงหนุนจากประเทศสมาชิกอื่นๆ ขององค์การอนามัยโลกในการรับมือกับจีน ศัตรูทางการเมือง

บรรดาประเทศพันธมิตรทางการทูตของไต้หวัน ได้เรียกร้องให้องค์การอนามัยโลกอนุญาตให้ไต้หวันเข้าร่วมการประชุมประจำปีครั้งที่ 71 ในปีนี้ ( 71st World Health Assembly) ในฐานะผู้สังเกตการณ์ หลังจากที่ไต้หวันถูกปฏิเสธเมื่อปีที่แล้ว

โดยในการประชุมประจำปี ประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลกจะตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายเเละอนุมัติงบประมาณ

แต่มีการคาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่า ไต้หวันอาจจะไม่ได้เข้าร่วมการประชุมประจำปีในปีนี้ ระหว่างวันที่ 21-26 พฤษภาคม เพราะจีนมีพันธมิตรทางการทูตใน WHO จำนวนมากกว่า เเละจีนถือว่าไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีน ไม่มีสิทธิ์ในฐานะประเทศในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศ

ไต้หวันออกจากการเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติในปี พ.ศ. 2514 ในตอนที่จีนเข้าเป็นสมาชิกของยูเอ็น

บรรดานักวิเคราะห์กล่าวว่า ความล้มเหลวในการเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมขององค์การอนามัยโลก จะดึงดูดความสนใจจากทั่วโลกเเก่ไต้หวัน เพราะไต้หวันได้ให้ความช่วยเหลือเพื่อการกุศลทางด้านการแพทย์มูลค่าหลายพันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา

เเละไม่ว่าการขอเข้าร่วมประชุมนี้จะล้มเหลวหรือไม่ก็ตาม จะทำให้โลกมองจีนเเละองค์การอนามัยโลกว่า สนใจการเมืองมากกว่าสุขภาพ

หวัง ไบ เชง (Wang Bi-sheng) เลขาธิการแห่งสมาคมการแพทย์ไต้หวัน (Taiwan Medical Association) ในกรุงไทเป กล่าวว่า WHO เป็นองค์การระหว่างประเทศที่ในบางครั้งมีการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องมากเกินไปในการทำงาน

โคเอน บลาเอาว์ (Coen Blaauw) ประธานบริหารของสมาคมส่งเสริมกิจกรรมสาธารณะฟอร์โมซาน (Formosan Association for Public Affairs) ในไต้หวัน กล่าวว่า บรรดานักกฏหมายจากสหรัฐฯ เเละนักการทูตเยอรมัน ในกรุงไทเป ตลอดจนบรรดาเจ้าหน้าที่ของประเทศสวาซิแลนด์ ชาติแอฟริกาเล็กๆ ได้แสดงการสนับสนุนต่อไต้หวันในเรื่องนี้เเล้ว

ทางวุฒิสภาของสหรัฐฯ ได้มีมติป็นเอกฉันท์ สนับสนุนการขอเข้าร่วมการประชุมประจำปีของ WHO ของไต้หวันครั้งนี้

จีนเคยยอมให้ไต้หวันเข้าสังเกตการณ์การประชุม จากปี พ.ศ. 2552 จนถึง พ.ศ. 2559 เพราะประธานาธิบดีของไต้หวันในช่วงนั้น ยอมรับความคิดของทางการจีนที่ว่าแต่ละฝ่ายเป็นส่วนหนึ่งของ “จีนเดียว”

แต่ในปัจจุบัน ประธานาธิบดี ไช่ อิง เหวิน (Tsai Ing-wen) ของไต้หวัน ปฏิเสธไม่ยอมรับความคิดนี้

ไต้หวันมักยกชูประเด็นความสำเร็จทางการด้านสาธารณสุขของตนทุกครั้งที่สมัครขอเป็นสมาชิกของ WHO เพื่อเเสดงให้ประเทศอื่นเห็นว่าไต้หวันสามารถช่วยเหลือด้านนี้ได้

สมาคมการแพทย์ไต้หวัน (Taiwan Medical Association) กล่าวเมื่อวันที่ 18 เมษายน ว่าเกาะไต้หวันได้ใช้เงิน 6 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ไปกับกิจกรรมและความช่วยเหลือด้านสุขภาพระหว่างประเทศ โดยช่วยเหลือคนใน 80 ชาติทั่วโลก

โจแอนน่า ลีอาย ประธานบริหารแห่งสำนักงานคลังสมอง Chunghua 21st Century ในไต้หวัน กล่าวว่า ไต้หวันต้องพยายามต่อไปในการเข้าร่วมการประชุมขององค์การอนามัยโลก และองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ เพื่อทดสอบขีดกำจัด

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวันจากที่เคยอบอุ่นเป็นมิตร กลายเป็นความตึงเครียด ตั้งเเต่ ปธน.ไช่ ขึ้นดำรงตำเเหน่ง เเต่บรรดานักวิชาการกล่าวว่า ทางการจีนยังมีความหวังว่าจะสามารถเจรจากับไต้หวันได้ในที่สุด

ทางการจีนยืนยันว่าจีนกับไต้หวันจะกลายเป็นหนึ่งเดียวกันในที่สุด เเต่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในไต้หวันพบว่า ชาวไต้หวันต่อต้านความพยายามของจีนนี้

โจแอนน่า ลีอาย กล่าวว่า ในที่สุด ชาวไต้หวันหลายคนจะกังวลว่ารัฐบาลของตนกำลังเสียเวลาเเละกำลังเงิน หากล้มเหลวต่อไปในการเข้าร่วมประชุม พวกเขาอาจจะหันไปเร่งเร้ารัฐบาลของ ปธน.ไช่ พยายามมากขึ้นในการปรับปรุงความสัมพันธ์กับทางการจีนให้ดีขึ้น

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทย กรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG