ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยอเมริกันพัฒนากระดูกอ่อนเทียมโดยปลูกจากเซลล์เริ่มต้น


กระดูกอ่อนเสื่อมเป็นอาการที่สร้างความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วย การผ่าตัดก็ไม่ได้ช่วยให้อาการเจ็บปวดหายไปแต่อย่างไร ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดกระดูกอ่อนเทียมแบบพลาสติกหรือแบบทำงานเหล็กรู้ดีว่า กระดูกอ่อนเทียมเหล่านี้ยังเป็นต้นเหตุของความเจ็บปวดเช่นกันและยังทำให้เคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวกอีกด้วย แต่การพัฒนากระดูกอ่อนเทียมเพื่อทดแทนกระดูกอ่อนที่เสื่อม ที่ทนทาน รับน้ำหนักและรองแรงกระแทกได้ดี เป็นงานที่ท้าทายมาก

คุณ Farshid Guilak ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมเครื่องกลและศัลยกรรมกระดูกแห่งมหาวิทยาลัย Duke University ในรัฐ North Carolina เป็นสมาชิกในทีมนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังหาทางพัฒนากระดูกอ่อนเทียมที่มีความนุ่มนวลและแข็งแรงในเวลาเดียวกัน เขาคาดการณ์ว่าในการผ่าตัดกระดูกอ่อนเทียมชนิดใหม่จะมีความนุ่มนวลกว่าด้วย
เขากล่าวว่าศัลยแพทย์เพียงแค่ใช้กระดูกอ่อนเทียมชนิดใหม่สอดเข้าไปแทนข้อที่เสื่อมในระหว่างการผ่าตัดเท่านั้น

ทีมงานของศาสตราจารย์ Guilak ที่ Duke University ได้ร่วมมือกับทีมงานนักวิทยาศาสตร์จาก Harvard University ในรัฐ Massachusetts ในการพัฒนากระดูกอ่อนเทียมจากการสร้างเนื้อเยื่อใหม่จากสเต็มเซลล์ ทีมวิจัยทำการปลูกเซลล์เริ่มต้นจากตัวคนไข้ ปลูกให้เป็นกระดูกอ่อนเทียมภายในแบบที่ทำจากแผ่นผ้าซ้อนกันเป็นชั้นๆ เจ็ดชั้นที่ประสานติดกันด้วยกาวน้ำเพื่อความเเข็งแรง กระดูกอ่อนเทียมที่ปลูกได้จะมีความหนาหนึ่งมิลลิเมตร

ศาสตราจารย์ Guilak กล่าวว่าหากปลูกกระดูกอ่อนเทียมได้สำเร็จ การผ่าตัดรักษาอาการกระดูกเสื่อมจะซับซ้อนและเจ็บปวดน้อยลงเพราะเพียงเเค่ผ่าตัดเอากระดูกอ่อนที่เสื่อมออกและนำกระดูกอ่อนเทียมที่ปลูกจากเซลล์เริ่มต้นของผู้ป่วยใส่ทดแทนโดยที่ศัลยแพทย์ไม่ต้องตัดข้อกระดูกส่วนอื่นๆ ออกแต่อย่างใด

ขณะนี้ ศาสตราจารย์ Guilak และทีมงานกำลังวางแผนจะทำการทดลองรักษาอาการกระดูกอ่อนเสื่อมด้วยกระดูกอ่อนเทียมปลูกจากเซลล์เริ่มต้นนี้ในสัตว์ทดลองเสียก่อนเพื่อทดสอบดูประสิทธิภาพ
XS
SM
MD
LG