ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทูต Susan Rice ผู้หนึ่งที่คาดกันว่าประธานาธิบดีโอบาม่า อาจเสนอชื่อให้เข้ารับตำแหน่งรมต. ต่างประเทศสืบต่อจากรมต. Clinton คือใคร มีความเป็นมาอย่างไร


ผู้แทนถาวรของสหรัฐประจำสหประชาชาติ เอกอัครราชทูต Susan Rice เป็นผู้หนึ่งที่คาดกันว่าประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า อาจเสนอชื่อให้เข้ารับตำแหน่งรมต. กระทรวงการต่างประเทศสืบต่อจากรมต. Hillary Clinton

ขณะเดียวกัน วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันระดับนำกล่าวตำหนิวิพากษ์นักการทูตผู้นี้ ในกรณีการโจมตีสถานกงสุลอเมริกันที่นครเบงกาซี่ ในลิเบียเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งทำให้เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำลิเบีย และเจ้าหน้าที่อเมริกันอีกสามคนถูกสังหาร ว่าให้ข้อมูลไม่ถูกต้องในเรื่องดังกล่าวเมื่อให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ ห้าวันหลังการโจมตี

Susan Rice เป็นใคร และมีความเป็นมาอย่างไร

ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1997 จนถึง 2001 ทูต Susan Rice ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรมต. กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ฝ่ายกิจการแอฟริกา ในขณะนั้น นาง Madeleine Albright รมต. ต่างประเทศสหรัฐ ซึ่งเป็นเพื่อนของครอบครัว เป็นผู้เสนอแนะให้ประธานาธิบดี Bill Clinton แต่งตั้งทูต Susan Rice ในตำแหน่งดังกล่าว

ก่อนหน้านั้น เธอทำงานเป็นผู้ช่วยพิเศษของปธน. Clinton รวมทั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโสสำหรับกิจการแอฟริกาให้กับสภาความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบขาวด้วย

Susan Rice เป็นชาววอชิงตันเต็มตัว เธอเกิดและโตที่กรุงวอชิงตัน รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Stanford และ Oxford โดยได้รับทุนการศึกษา Rhodes Scholar

และในระหว่างการรณรงค์หาเสียงของสว. บารัค โอบาม่า ในปี ค.ศ. 2008 Susan Rice รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอาวุโสสำหรับกิจการความมั่นคงแห่งชาติ

หลังการเลือกตั้ง รัฐสภาสหรัฐลงมติยืนยันตามการเสนอของปธน. โอบาม่า ให้เธอเข้ารับตำแหน่งผู้แทนถาวรของสหรัฐประจำสหประชาชาติ นับเป็นผู้หญิงอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาคนแรกที่ดำรงตำแหน่งที่ว่านี้

ผลงานของทูต Susan Rice ที่สหประชาชาติ รวมถึงการเจรจาเพื่อให้มีมาตรการลงโทษอิหร่านและเกาหลีเหนิอทางเศรษฐกิจ และการที่สหประชาชาติเข้าไปมีบทบาททางการทหารในลิเบียด้วย เป็นที่กล่าวขวัญกันว่า ทูต Susan Rice เป็นนักการทูตที่พูดอย่างตรงไปตรงมามาก

แต่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์นักการทูตผู้นี้ โดยเฉพาะจากสมาชิกพรรครีพับลิกันในวุฒิสภา เกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์ของทูต Rice ทางโทรทัศน์ในกรณีการโจมตีสถานกงสุลสหรัฐที่นคร Benghazi ในลิเบีย ซึ่งเธอกล่าวว่า เป็นการจู่โจมตีของฝูงชนโดยไม่มีการวางแผนล่วงหน้ามาก่อน

ทูต Susan Rice กล่าวว่า คำสัมภาษณ์ดังกล่าว อาศัยข้อมูลข่าวกรองที่ทางการสหรัฐให้กับเธอในเวลานั้น และเธอยังได้ระบุไว้ด้วยว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลชั้นต้น ซึ่งการสืบสวนในเวลาต่อไปจะให้คำตอบที่แน่นอนได้

บรรดาผู้ที่ปกป้องนักการทูตผู้นี้ กล่าวหาคนที่วิพากษ์ตำหนิเธอว่าเลือกปฏิบัติทางเพศ ขณะเดียวกันก็มีนักการทูตชายหลายคนที่ยกย่องสไตล์การเจรจาของทูต Rice ว่าเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว

อย่างไรก็ตาม นักกิจกรรมทางด้านสิทธิมนุษยชนและนักการทูตบางรายได้กล่าวตำหนิทูต Susan Rice กับการที่สหรัฐไม่แสดงความคิดเห็นแต่อย่างใดเกี่ยวกับบทบาทของ Rwanda ในกรณีความขัดแย้งในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

และแม้จะมีนามสกุลเดียวกัน คือ Rice ทูต Susan Rice ซึ่งอายุ 48 ปีในขณะนี้ ไม่ได้เกี่ยวดองกับ Condoleeza Rice อดีตรมต. ต่างประเทศสหรัฐในสมัยปธน. George W. Bush แต่อย่างใดเลย
XS
SM
MD
LG