ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์จากความร่วมมือด้านความมั่นคงสหรัฐฯ-อังกฤษ-ออสเตรเลียจะท้าทายอำนาจจีนในมหาสมุทรแปซิฟิก


Submarine Pact China
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:39 0:00

ข้อตกลงหุ้นส่วนด้านความมั่นคงสามฝ่ายระหว่างสหรัฐฯ อังกฤษและออสเตรเลียที่มีชื่อว่า AUKUS เพื่อสร้างเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ให้ออสเตรเลียใช้ประจำการได้ใน 14 ปีได้สร้างความขุ่นเคืองให้กับจีน

แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่าเรื่องนี้จะช่วยเพิ่มบทบาทด้านความมั่นคงของออสเตรเลียในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกขึ้น โดยข้อตกลงความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างสามประเทศดังกล่าวซึ่งมีการประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วจะเป็นผลให้ออสเตรเลียสร้างเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ได้อย่างน้อยแปดลำโดยอาศัยเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ซึ่งเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ที่ว่านี้จะมีความคล่องตัวมากขึ้น เดินทางได้เร็วขึ้นและสามารถหลบเลี่ยงการตรวจจับได้มากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตามอาจจะต้องใช้เวลาจนถึงปี 2578 หรืออีก 14 ปีต่อจากนี้กว่าที่ออสเตรเลียจะมีเรือดำน้ำดังกล่าวมาใช้งาน และโครงการความร่วมมือที่ว่านี้นอกจากจะทำให้จีนไม่พอใจแล้วยังเป็นผลให้ฝรั่งเศสขุ่นเคืองใจด้วย เพราะออสเตรเลียได้ยกเลิกโครงการซื้อเรือดำน้ำเครื่องยนต์ดีเซลจากฝรั่งเศสมูลค่าราวสี่หมื่นล้านดอลลาร์ทำให้ฝรั่งเศสเรียกทูตของตนประจำกรุงแคนเบอร์ราและกรุงวอชิงตันกลับประเทศเพื่อหารือเป็นการประท้วง

แต่ถ้าพูดถึงเรื่องเขี้ยวเล็บใหม่สำหรับกองทัพออสเตรเลีย นายเกรกอรี โพลลิง ผู้อำนวยการโครงการด้านความโปร่งใสทางทะเลในเอเชียของสถาบัน Center for Strategic and International Studies ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มองว่าในแง่ปฏิบัติการแล้วเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์นี้ย่อมทำให้จีนไม่พอใจ เพราะออสเตรเลียจะสามารถส่งยานใต้น้ำรุ่นใหม่นี้ไปประจำการที่จุดใดก็ได้ในทะเลจีนใต้หรือในทะเลจีนตะวันออกเป็นเวลานานขึ้น

ส่วนคุณมัลคอม เดวิส นักวิเคราะห์อาวุโสของสถาบัน Australian Strategic Policy Institute ในกรุงแคนเบอร์ราก็เสริมว่าเรือดำน้ำดังกล่าวอาจใช้เวลาเดินทางจากออสเตรเลียไปยังทะเลจีนใต้เพียงแค่หนึ่งวันเท่านั้น ทั้งยังอาจถูกส่งเข้าไปในอ่าวเบงกอล ทะเลอาหรับและบริเวณด้านตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกได้ด้วย

อย่างไรก็ตามถึงแม้ออสเตรเลียจะยังไม่มีเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ใช้งานทันทีและต้องรออีกราว 10 ปี แต่นายเกรกอรี โพลลิงก็ชี้ว่าเรื่องนี้เป็นการแสดงถึงท่าทีและความเต็มใจของออสเตรเลียที่จะเผชิญหน้ากับจีน รวมทั้งยังเป็นการสะท้อนแนวคิดเรื่องการกลับคืนสู่บทบาทระดับโลกของอังกฤษหลังจากที่อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปด้วย

โดยข้อตกลงความมั่นคง AUKUS นี้ระบุให้มีการแบ่งปันเทคโนโลยีด้านการทหาร ระบบปัญญาประดิษฐ์ รวมทั้งควอนตัมเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐ อังกฤษและออสเตรเลีย

ทางด้านนายมัลคอม เดวิส นักวิจัยของออสเตรเลียก็มองเช่นกันว่าเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์รุ่นใหม่จะช่วยเสริมขีดความสามารถด้านการป้องกันประเทศของออสเตรเลียเพื่อรับมือกับจีนซึ่งมีศักยภาพทางทหารเพิ่มมากขึ้น และตนเชื่อว่าการท้าทายด้านการทหารจากจีนนั้นเป็นเรื่องที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งรวมถึงโอกาสที่จะมีการใช้กำลังระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในประเด็นปัญหาเรื่องไต้หวันในช่วงทศวรรษนี้เช่นกัน

ข้อตกลงด้านความมั่นคง AUKUS ดังกล่าวนี้มีขึ้นเพิ่มเติมจากความร่วมมือด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกระหว่างสี่ประเทศ คืออินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ หรือที่เรียกว่า the Quad ซึ่งมีมาได้ 16 ปีแล้ว และสำหรับกลุ่มความร่วมมือ AUKUS ครั้งนี้กระทรวงการต่างประเทศจีนได้แถลงโจมตีว่าเป็นเรื่องที่เป็นอันตรายต่อภูมิภาคอินโดแปซิฟิกซึ่งจะสร้างปัญหาต่อเสถียรภาพและสันติภาพในบริเวณดังกล่าว รวมทั้งจะทำให้เกิดการแข่งขันเพื่อสร้างสมอาวุธและบ่อนเซาะความพยายามลดอาวุธของนานาประเทศด้วย

และนายมัลคอม เดวิส นักวิเคราะห์ของออสเตรเลียได้เสริมว่าจีนอาจตอบโต้เรื่องนี้ด้วยการจำกัดสินค้านำเข้าบางอย่างจากออสเตรเลีย อย่างไรก็ตามขณะนี้รัฐบาลกรุงแคนเบอร์ราได้เตรียมหาตลาดใหม่ไว้ทดแทนสำหรับสินค้าออกที่สำคัญของตนคือถ่านหินกับไวน์แล้ว จากข้อขัดแย้งที่เคยมีขึ้นก่อนหน้านี้กับประเทศจีน

ที่มา: VOA

XS
SM
MD
LG